เรื่องราวของความมี และความไม่มี …
ในที่ว่าง ในแต่ละห้วงปัจจุบันขณะนั้น ๆ
Happenings of mark-makings from various instances of isness and notness,
both accidentally and intentionally, with and without control.
ขอเชิญชมนิทรรศการ “Those Very Instances”
ศิลปิน: ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรชัย เอกพลากร
ลักษณะงาน: ภาพพิมพ์
จัดแสดงวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ถึง 26 มกราคม 2566
ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 1 อาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พิธีเปิดนิทรรศการ: วันที่ 13 มกราคม 2566 เวลา 17.00 น.
รองศาสตราจารย์ ดร. สันติ ฉันทวิลาศวงศ์ ที่ปรึกษาอธิการบดี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ
แนวความคิด
นิทรรศการ “Those Very Instances” เป็นผลงานสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคเอ็ทชิ่ง (Etching) ของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรชัย เอกพลากร ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเกิดจากการทดลองพัฒนากระบวนการทางเลือก (alternative process) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพในการทำงาน ลดปริมาณการใช้สารเคมี และสิ่งที่อาจเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้แผ่นอะคริลิคเป็นแม่พิมพ์ทางเลือก ลักษณะผลงานที่ถ่ายทอดออกมาเป็นพลังของทีแปรงในพื้นที่ว่าง และค่าน้ำหนักอ่อนแก่ เป็นแก่นแท้ของความงาม ผลงานชุดนี้จึงเป็นการนำเอาการปาดป้ายทีแปรง และขีดเขียนเส้นสายแบบนามธรรม แสดงออกในห้วงอารมณ์ ห้วงความคิด และอีกหลาย ๆ ห้วงจิปาถะ ฯ อย่างตรงไปตรงมา ในช่วงเวลานั้น ๆ โดยมีแนวคิดบางประการเป็นแนวทางในการจัดองค์ประกอบศิลป์อย่างมีแบบแผน
หากกล่าวถึงเรื่องเทคนิควิธีการ สำหรับการสร้างสรรค์ผลงานด้วยเทคนิคเอ็ทชิ่งนั้น ตามวิธีการดั้งเดิม มักใช้แม่พิมพ์โลหะซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง มีขั้นตอนการนำมากัดกรดให้เกิดลวดลายตามที่ต้องการหลายขั้นตอน กรดที่ใช้ในกระบวนการก็ต้องจัดหาจากร้านจำหน่ายเฉพาะ และต้องมีความระมัดระวังเรื่องการนำมาใช้ด้วย การเตรียมพื้นที่จัดเก็บ การจัดทิ้ง และพื้นที่กัดกรดให้เป็นเฉพาะและมีความปลอดภัยต่อคนทำงานและผู้คนรอบข้างเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ดังนั้นการใช้แผ่นอะคริลิคจึงเป็นทางเลือกที่ดีมาก เนื่องจากปลอดภัยและผลลัพธ์ที่ได้นั้น ยังสามารถแสดงความงามของเส้นสาย และค่าน้ำหนักอ่อนแก่ได้ลึกซึ้งสมกับการใช้คุณลักษณะของร่องลึกบนแม่พิมพ์อีกด้วย
เปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 9.00 – 16.30 น.
ปิดให้บริการ วันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ
สอบถาม โทร. 02-218-3645 / Facebook: Chula Museum