โครงการ “ไทยอารี” เป็นโครงการที่วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี พ.ศ. 2564 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และผลการวิจัยของโครงการ “จุฬาอารี” (Chula Ari) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไปในอนาคต ด้วยการขยายผลต้นแบบระบบรองรับสังคมสูงวัยในเมืองมหานครของโครงการจุฬาอารีไปเป็นแผนงานวิจัยไทยอารี ระดมพลังสถาบันการศึกษาและชุมชนและภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุไปสู่ชุมชนเมืองอื่นของประเทศ ทำให้เป็นชุมชนที่สร้างเสริมพลังของผู้สูงอายุและน่าอยู่สำหรับคนทุกวัย (Active Aging and Aged-friendly Community)

โครงการ “ไทยอารี” มีพื้นที่ดำเนินการ 4 ชุมชนเมืองใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำปาง จังหวัดชุมพร จังหวัดชัยภูมิ และจังหวัดชลบุรี  ในส่วนของจังหวัดชลบุรี ได้เลือกชุมชนเกาะสีชังเป็นพื้นที่วิจัยหลัก และ พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน โดยคุณวันดี รักชาติ หัวหน้าหน่วยพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นหัวหน้าทีมผู้ประสานงานของโครงการฯ ในพื้นที่อำเภอเกาะสีชัง

พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐานร่วมกับเครือข่ายในเกาะสีชัง ได้แก่ อำเภอเกาะสีชัง เทศบาลตำบลเกาะสีชัง โรงเรียนเกาะสีชัง โรงพยาบาลเกาะสีชัง พัฒนาสังคมเกาะสีชัง ผู้ใหญ่บ้านทั้ง 6 หมู่ ประธานชุมชน และผู้สูงอายุเกาะสีชัง เข้าร่วมดำเนินโครงการ “ไทยอารี” ดังนี้

  1. ถ่ายทอดและปรับปรุงนวัตกรรมการวิจัยและการเก็บข้อมูลของโครงการจุฬาอารี ร่วมกับทีมวิจัยในพื้นที่เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจ เข้าถึงศักยภาพและปัญหาของชุมชนเกาะสีชังและใช้ข้อมูลผลการวิจัยเป็นกลไกในการกำหนดแผนและการดำเนินงานรองรับสังคมสูงวัยให้เหมาะกับบริบทของชุมชนเกาะสีชังรวมทั้งใช้ข้อมูลในการติดตามประเมินผลการดำเนินงาน
  2. พัฒนาระบบและกลไกในการรองรับสังคมสูงวัยและเสริมสร้างพฤฒิพลัง (Active Aging) พื้นที่เกาะสีชัง ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สภาพแวดล้อม เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเน้นการมีส่วมร่วมจากผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) ในชุมชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน โดยเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทรองรับสังคมสูงวัย แผนแม่บทการพัฒนาศักยภาพคน และแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 และแผนปฎิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 รวมทั้งนำบทเรียนจากโครงการจุฬาอารีไปขยายผลระบบเมืองน่าอยู่เพื่อรองรับสังคมสูงวัย และพัฒนาชีวิตประชากรในชุมชนแบบองค์รวม

การดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดโครงการเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนเกาะสีชัง ในมิติต่าง ๆ ดังนี้

มิติสุขภาพ

  • โครงการการศึกษาโทรเวชกรรมฟื้นฟูในผู้สูงวัยสุขภาพดีในชุมชน โดยรองศาสตราจารย์แพทย์หญิง กฤษณา พิรเวช ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซี่งส่งมอบหุ่นยนต์ช่วยเหลือผู้สูงอายุ (น้องไข่มุก) สำหรับดูแลผู้สูงอายุให้กับโรงพยาบาลเกาะสีชังและเครื่อง Antibody Antigen เพื่อตรวจเช็คหลอดเลือดให้กับผู้สูงอายุเกาะสีชัง
  • โครงการพัฒนาระบบการเยี่ยมผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง โดยโรงพยาบาลเกาะสีชัง
  • โครงการ Preventive LTC โดยโรงพยาบาลเกาะสีชัง

มิตินวัตกรรม

  • โครงการอบรมการใช้ Application LINE ในผู้สูงอายุเกาะสีชัง
  • โครงการนวัตกรรมโดรนขนส่งเวชภัณฑ์จากฝั่งมายังโรงพยาบาลเกาะสีชัง

มิติสิ่งแวดล้อม

  • โครงการพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัยในบริบทของชุมชนเมืองภาคตะวันออก ซึ่งมีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อเป็นลานกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุเกาะสีชัง โดยร่วมกับเทศบาลตำบลเกาะสีชัง

มิติเศรษฐกิจ

  • โครงการอบรมที่สร้างอาชีพเพื่อผู้สูงอายุ เช่น การทำน้ำมันนวดจากสมุนไพร การทำผ้ามัดย้อม
  • โครงการอบรมการพัฒนาสินค้าเพื่อการตลาด
  • โครงการส่งเสริมการตลาดออนไลน์สำหรับผลิตภัณฑ์ของผู้สูงอายุ โดยกลุ่มเยาวชน โรงเรียนเกาะสีชัง

มิติสังคม

  • โครงการพัฒนานวัตกรชุมชน (การจัดหาอาสาสมัครเพื่อการเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุที่ไม่มีผู้ดูแล)
  • โครงการถ่ายทอดภูมิปัญญาจากผู้สูงอายุ
  • โครงการเสริมความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนสูงวัย โดยโรงเรียนเกาะสีชัง

หมายเหตุ โครงการ “จุฬาอารี” ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ กองทุนศตวรรษที่ 2 หรือ The Second Century Fund (C2F)