ในปีงบประมาณ 2566 พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนใน 3 ลักษณะ คือ (1) นิทรรศการในวาระและโอกาสสำคัญ สร้างองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายใหม่และพัฒนาความร่วมมือเดิมให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นทั้งในระดับชาติและนานาชาติ (2) นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีชื่อเสียงระดับชาติ และสร้างคุณูปการต่อประเทศและสังคมโลก (3) นิทรรศการเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่ผลผลิตทางการศึกษา ทั้งนักเรียน นิสิต และคณาจารย์ ซึ่งทั้งหมดเปิดให้เข้าชมโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
(1) นิทรรศการในวาระและโอกาสสำคัญ สร้างองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายใหม่และพัฒนาความร่วมมือเดิมให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้นทั้งในระดับชาติและนานาชาติ
(1.1) นิทรรศการ “150 ปี ยุวกษัตริย์พระปิยมหาราชประพาสอินเดีย” โดยความร่วมมือกับภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน – 9 ธันวาคม 2565 เพื่อแสดงถึงพระราชวิสัยทัศน์ และพระปรีชาในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์พระผู้ประดิษฐานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเผยแพร่พระราชกรณียกิจเพื่อเป็นประโยชน์ทางการศึกษาแก่สาธารณชน
นิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ (1) มูลเหตุการเสด็จอินเดีย (2) รายละเอียดคณะเสด็จและเส้นทางเสด็จอินเดีย (3) ผลจากการเสด็จอินเดีย ซึ่งทำให้ผู้ชมนิทรรศการเข้าใจหลายประเด็นที่สำคัญ รวมถึงบริบทการเมืองสยามในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 และพัฒนาการของประเทศสยาม ตามรูปแบบการอภิวัฒน์ของโลกตามลำดับ รับชมนิทรรศการเสมือน คลิก
(1.2) นิทรรศการ “ภิรมย์จันทร์”
“ภิรมย์จันทร์”
คุณและฉัน เราเห็นจันทร์ดวงเดียวกัน
นิทรรศการภาพถ่ายความงามของดวงจันทร์ ผ่านมุมมองของช่างภาพชาวไทยและจีน เฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีน ในเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมและประเพณีเกี่ยวกับดวงจันทร์ที่มีร่วมกัน และเรื่องราวของพระจันทร์ในทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยความร่วมมือกับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศจีน ณ กรุงเทพมหานคร สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาฯ สาขาวิชาภาษาจีน ภาควิชาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม – 7 ตุลาคม 2565 รับชมนิทรรศการเสมือน คลิก
(2) นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินและคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีชื่อเสียงระดับชาติ และสร้างคุณูปการต่อประเทศและสังคมโลก
(2.1) “สืบ สร้าง สอน” นิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปิน รองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี สถาปนิกและศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ผู้อุทิศตนให้กับงานทางด้านสถาปัตยกรรมไทยมาอย่างยาวนาน เป็นทั้งผู้อนุรักษ์ สร้างสรรค์และถ่ายทอดวิชาการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นปูชนียบุคคลที่สร้างชื่อเสียงและมีคุณูปการกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสังคมอย่างยิ่ง ผลงานปัจจุบันล่าสุด คือ อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ของประเทศไทย
ฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ ร่วมกับสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้จัดนิทรรศการนี้ขึ้นเพื่อเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานสำคัญของอาจารย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และแสดงศาสตร์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมไทยเพื่อเป็นประโยชน์ทางด้านการศึกษาให้กับสาธารณชนได้รับรู้อย่างกว้างขวาง รับชมนิทรรศการเสมือน คลิก / รับชมวีดิทัศน์ คลิก
(2.2) นิทรรศการสารพัดเรื่องของศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ “กระดาษ เส้นเสียงและอักษร” ผู้ซึ่งมีความรู้หลากหลายทั้งด้านประวัติศาสตร์ กฎหมาย จดหมายเหตุ ศิลปวัฒนธรรมและด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างกว้างขวาง
ภัณฑารักษ์ได้คัดเรื่องราวจากบทความในหนังสือ บทโทรทัศน์ รวมถึงเรื่องราวส่วนตัวบน Facebook ของอาจารย์ ที่ได้นำเสนอความรู้รอบตัว สภาพสังคม ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสัมภาษณ์เพิ่มเติมประสบการณ์ชีวิตที่พบเห็นตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน และอารมณ์ขันของ “ธงทอง จันทรางศุ” มาจัดแสดงเป็นหมวดหมู่ภายในห้องนิทรรศการ จัดแสดงเมื่อวันที่ 24 มีนาคม – 21 มิถุนายน 2566 รับชมวีดิทัศน์ คลิก
(3) นิทรรศการเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่ผลผลิตทางการศึกษาทั้งนักเรียน นิสิต และคณาจารย์
(3.1) นิทรรศการ “Those Very Instances” เป็นผลงานสร้างสรรค์ด้วยเทคนิคเอ็ทชิ่ง (Etching) ของผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรชัย เอกพลากร ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเกิดจากการทดลองพัฒนากระบวนการทางเลือก (alternative process) โดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพในการทำงาน ลดปริมาณการใช้สารเคมี และสิ่งที่อาจเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม จัดแสดงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 ถึง 26 มกราคม 2566 รับชม E-Catalogue คลิก
(3.2) “Hidden Gems” นิทรรศการการออกแบบและตกแต่งเซรามิก: นวัตกรรมจากน้ำปลา เป็นผลงานของรองศาสตราจารย์สุขุมาล สาระเกษตริน สาขาวิชาเอกหัตถศิลป์ เซรามิก ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนำน้ำปลาซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยมาค้นคว้า พัฒนาวิธีการสร้างสรรค์ลวดลายบนเซรามิก ซึ่งนับเป็นการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ของชาติ ที่ช่วยประหยัดต้นทุน พลังงานและกระบวนการผลิตเซรามิก ซึ่งมีผลต่อการพัฒนางานศิลปะอย่างยั่งยืนได้ จัดแสดงระหว่างวันที่ 9-31 มีนาคม 2566 รับชม E-Catalogue คลิก
(3.3) สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม จัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะของนักเรียน อาจารย์และบุคลากร ครั้งที่ 9 : ศิลปนิวัต เพื่อกระตุ้นการแสดงความสามารถทางศิลปะของนักเรียนให้แสดงออกได้อย่างเต็มศักยภาพ เสริมสร้างความมั่นใจ ความภาคภูมิใจให้แก่ผู้สร้างสรรค์ผลงาน อีกส่วนหนึ่งคือเพื่อจะได้เกิดการเรียนรู้ในด้านการชื่นชมความงามทางศิลปะ ตระหนักในคุณค่าของงานศิลป์ และทำให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ในด้านสุนทรียะ
นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 3 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566 ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม และห้องนิทรรศการหมุนเวียนชั้น 1 อาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับชม E-Catalogue คลิก
พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น.
โทร. 02-218-3645 -6
Facebook: www.facebook.com/chulamuseum/
แผนที่: https://goo.gl/maps/Xvf1B469MJToPjcV9