จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการดำเนินโครงการเพื่อบันทึกและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมเป็นประจำทุกปี ทั้งในส่วนของวัฒนธรรมพื้นบ้านหรือภูมิภาค วัฒนธรรมระดับชาติ และวัฒนธรรมของชุมชนพลัดถิ่น ซึ่งในช่วงปี 2565-2566 มีรายละเอียดดังนี้

มรดกทางวัฒนธรรมพื้นบ้านหรือภูมิภาค

พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระตำหนักเดิมของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นี้จะครบ 150 ปี วันประสูติของพระองค์ท่าน มหาวิทยาลัยจึงมีดำริที่จะจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ขึ้น โดยในส่วนการบันทึกและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม จะได้จัดให้มีพิธีบวงสรวงและการเทศน์แบบล้านนาโบราณ และมีความร่วมมือกับวิทยาลัยนาฏศิลปะเชียงใหม่ จัดการแสดงฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ฉบับเต็มอย่างถูกต้อง จำนวน 150 คน ซึ่งเป็นนาฏศิลป์ล้านนาที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเมื่อกว่า 100 ปีก่อน ฝึกซ้อมดนตรีโดยอาจารย์สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติและศิลปินแห่งมหาวิทยาลัย ฝึกซ้อมการแสดงโดยคณะครูจากวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ซึ่งสืบทอดท่าฟ้อนรำมาจากศิลปินในพระตำหนักของพระราชชายาฯ จึงนับเป็นการบันทึกและอนุรักษ์อย่างสำคัญของการฟ้อนรำนี้

มรดกทางวัฒนธรรมระดับชาติ

ประเทศไทยมีงานศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าหลากหลายประเภท ที่สำคัญประเภทหนึ่งคือ “ดนตรีและนาฏศิลป์ไทย” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์ดนตรีไทย จึงเป็นที่มาของโครงการ “จุฬาจารึก” ที่มีการดำเนินงานเป็นส่วน ๆ เพื่อสืบทอดองค์ความรู้และศิลปะในการบรรเลงของครูดนตรีผู้ทรงคุณวุฒิของชาติอย่างเป็นระบบ และการบันทึกวงดนตรีและบทเพลงสำคัญต่างๆทางดนตรีไทย เช่นเพลงพิธีกรรมที่ใช้ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ  เพลงเดี่ยวอวดฝีมือ เพลงต่างๆที่สืบทอดกันมาแต่บรรพบุรุษ  เพื่ออนุรักษ์ไม่ให้สูญหาย และจัดเก็บเพื่อสามารถสืบค้นเพื่อการศึกษาที่ถูกต้อง จึงได้บันทึกข้อมูลทั้งหมดในระบบดิจิทัล ผู้สนใจทุกระดับสามารถสืบค้นได้ที่หอสมุดดนตรีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
งานของโครงการ “จุฬาจารึก” ได้แก่

(1) โครงการบันทึกข้อมูลนักดนตรีไทยอาวุโส ระยะที่ 7

จัดเก็บข้อมูลนักดนตรีไทย ในระดับทรงคุณวุฒิ และเชี่ยวชาญ โดยเริ่มต้นจากศิลปินอาวุโสสูงไล่เรียงลงมาตามลำดับ โดยจัดเก็บทั้งข้อมูลด้านประวัติบุคคล ประวัติการสืบทอดและองค์ความรู้ทางดนตรีไทย  บันทึกไว้ในรูปแบบบันทึกวีดิทัศน์สัมภาษณ์ และการบรรเลงตัวอย่างเพลงสำคัญที่เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละท่าน  โดยได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานต้นสังกัด อาทิ กรมศิลปากร กองดุริยางค์ของสี่เหล่าทัพ วงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์ และวงดนตรีไทยกรุงเทพมหานคร และศิลปินอิสระ เป็นต้น ปัจจุบันมีข้อมูลศิลปินที่เสร็จสมบูรณ์แล้วนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ รวม 157 ท่าน และมีแผนงานที่จะดำเนินการโครงการนี้ต่อเนื่องทุกปี

(2) โครงการนานาสาระดนตรีไทย ระยะที่ 2

บันทึกและเผยแพร่ เทคนิคและวิธีการ “สร้างและซ่อม” เครื่องดนตรีไทยและส่วนประกอบต่าง ๆ ของเครื่องดนตรี ซึ่งล้วนเป็นองค์ความรู้ที่สืบต่อกันในสืบสายสกุลหรือในสำนักดนตรี ด้วยการจดจำที่สืบทอดกันโดยวิธีแบบมุขปาฐะ เพื่อเป็นการป้องกันการสูญหายของความรู้ที่สำคัญในทุกแง่มุม จึงเริ่มดำเนินการจัดเก็บ บันทึกอย่างละเอียดและส่วนหนึ่งจัดทำเป็นคลิปวีดิทัศน์เผยแพร่ทางออนไลน์เพิ่มเติมในระยะที่ 2 รวมเป็นทั้งหมดจำนวน 11 ตอน มีผู้รับชมรวมแล้วกว่า 44,600 ครั้ง และมีแผนงานที่จะดำเนินการโครงการนี้ต่อเนื่องในปีงบประมาณถัดไป

(3) โครงการบันทึกการแสดงดนตรีไทย รายการ “จุฬาวาทิต”

การแสดงดนตรีไทยรายการ “จุฬาวาทิต” จัดแสดงเป็นประจำทุกศุกร์แรกของเดือน (เดือนเว้นเดือน / ปีละ 6 ครั้ง) เป้าหมายของโครงการคือการให้พื้นที่กับวงดนตรีไทยแบบฉบับดั้งเดิม ได้มีเวทีเพื่อเผยแพร่ และฝึกฝนสร้างประสบการณ์แก่นักดนตรีไทยจากรุ่นสู่รุ่น และจัดเป็นรายการแสดงอย่างจริงจัง โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมในหอแสดงดนตรี และถ่ายทอดสดทาง Facebook และ Youtube และบันทึก จัดเก็บไฟล์การแสดงไว้ทุกครั้ง ตั้งแต่ครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2531 นับจนถึงปัจจุบัน ในเดือนสิงหาคม 2566 การแสดงดนตรีไทยรายการ “จุฬาวาทิต” ได้จัดแสดงมาจนถึง 228 ครั้งแล้ว

(4) โครงการบันทึก “เพลงพิธีกรรม”

เพลงพิธีกรรมเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ รุ่นสู่รุ่น ควรค่าแก่การบันทึกไว้เพื่อการเผยแพร่และเป็นกรณีศึกษา ซึ่งว่าด้วยเรื่องของวงดนตรี เพลง ดนตรีของแต่ละวง แต่ละกลุ่มเพลง ที่นำมาใช้ในโอกาสต่าง ๆ  ทั้งในงานมงคลอันเกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน หรือพิธีกรรมทางศาสนาตามวิถีชีวิตของคนในสังคมไทย ทำการบันทึกในนามของ “วงจุฬาวาทิต” วงดนตรีไทยประจำมหาวิทยาลัย  ควบคุมการฝึกซ้อมโดย อาจารย์บุญช่วย โสวัตร ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนพลัดถิ่น

นิทรรศการภาพวาดประกอบพิธีกรรมชนเผ่าเย้า “ต้ม ต้อง เมี้ยน”

ชาวเย้าจะเรียกตนเองว่า “เมี่ยน” หรือ “อิ้วเมี่ยน” ซึ่งคำว่า อิ้ว แปลว่า ชนชาติ ส่วนคำว่า เมี่ยน แปลว่ามนุษย์ เมื่อรวมกันจะแปลความหมายได้ว่า ชนชาติมนุษย์ 

ชาวเย้าถูกจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อชาติมองโกลอยด์ (Mongoloid)  พูดภาษาตระกูลแม้ว-เย้า หรือม้ง-เมี่ยน มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณภูเขาสูงตอนกลางของจีน ทั้งนี้ ในอดีตชาวเย้ามีการอพยพย้ายถิ่นฐานจากจีนเนื่องสาเหตุหลายปัจจัย เช่น พื้นที่ทำกิน ความรุนแรงทางการเมือง ปัจจุบันชาวเย้ามีการตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายในหลายพื้นที่ทั้งในบริเวณทางตอนใต้ของจีน และพื้นที่ของประเทศเวียดนาม ลาว และไทย และมีบางส่วนอพยพไปยังประเทศในแถบตะวันตก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดาและสวิตเซอร์แลนด์

ในประเทศไทยชาวเย้าได้อพยพเข้ามาเมื่อ 200 ปีก่อนชาวเย้าได้เลือกตั้งถิ่นฐานในพื้นที่เขาห่างไกลโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง กำแพงเพชรและสุโขทัย ปัจจุบันมีชาวเย้าอาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 50,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ลัทธิและความเชื่อ

ศาสนาและความเชื่อของชาวเย้าเป็นการผสมผสานของความเชื่อและการนับถือในเรื่องเทพเจ้า บรรพบุรุษ วิญญาณ(ผี) ซึ่งชาวเย้าได้รับอิทธิพลความเชื่อจากลัทธิเต๋าในช่วงคริสตวรรษที่ 13 และ 14 ในเรื่องของการนับถือวิญญาณ และมีแนวคิดในการยอมรับอำนาจของวิญญาณ มีความเชื่อว่าในชีวิตคน ธรรมชาติและสิ่งอื่น ๆ จะมีขวัญ (เวิ่น) อยู่ 12 แห่ง คือ เส้นผม ศีรษะ ตา หู จมูก ปาก คอ ขา แขน อก ท้อง และเท้า เมื่อเสียชีวิตลงขวัญจะเปลี่ยนเป็นวิญญาณ (เมี้ยน) และเมี้ยนนี้มีอยู่ในธรรมชาติและสิ่งอื่น ๆอีกด้วย

ชาวเย้ามีความเชื่อว่า ความมั่นคงและปลอดภัยทั้งในขณะมีชีวิตหรือหลังจากตายไปแล้ว ล้วนขึ้นอยู่กับอำนาจของเทพเจ้า เพราะมนุษย์ทุกคนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากเทพเจ้า ชาวเย้าจะไม่กระทำสิ่งที่ทำให้เทพเจ้าไม่พอใจหรือเป็นการล่วงเกิน เพราะจะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานและความเสียหาย การสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับเทพเจ้า กระทำได้โดยผ่านพิธีกรรมเท่านั้น วิญญาณที่นับถือแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ เทพเจ้า วิญญาณบรรพบุรุษ และวิญญาณทั่ว ๆไปที่อยู่ในธรรมชาติ

พิธีกรรม

พิธีกรรมของชาวเย้ามุ่งเน้นไปที่การชำระตนให้มีความบริสุทธิ์ ทั้งนี้ สำหรับชาวเย้า การบวช คือ ทางเดียวที่เป็นการพ้นบาปและเป็นการสร้างบุญบารมีที่จะนำพาตนไปสู่ชีวิตหลังความตายที่ดี ดังนั้น การบวชจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำสำหรับชาวเย้า

ชาวเย้าเชื่อว่าผู้ชายจะต้องผ่านพิธีเริ่มต้นที่เรียกว่าพิธีแขวนตะเกียง 3 ดวง เพื่อที่จะได้เป็นผู้ใหญ่และได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ในสังคมเย้า เป็นพิธีกรรมหลักที่จำเป็นในการที่จะก้าวไปเป็นผู้ประกอบพิธีได้ แสงจากตะเกียงสื่อถึงความรู้ ภูมิปัญญา และการหยั่งรู้ถึงจิตวิญญาณที่ถ่ายทอดจากอาจารย์ถึงลูกศิษย์ พิธีกรรมนี้ยังเป็นการยืนยันว่าชาวเย้าผู้นี้เป็นทายาทที่แท้จริงของผันหู

นิทรรศการภาพวาดประกอบพิธีกรรมชนเผ่าเย้า “ต้ม ต้อง เมี้ยน” เป็นนิทรรศการที่มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเทพเจ้าของชนเผ่าเย้า ประวัติความเป็นมา ศิลปะการปักผ้า ประเพณี รวมถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ที่แสดงถึงความเชื่อและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษของชนเผ่าเย้า

ภายในนิทรรศการนำเสนอภาพวาดเทพเจ้าของตระกูล เติง ฝ่า เฉียน วาดโดยจิตรกร เฉิน ก่วย ลี สมัย จักรพรรดิเต้า กวง ราชวงศ์ชิงซึ่งมีอายุประมาณ 196 ปี จำนวน 24 ภาพ (โดยปกติภาพวาดเหล่านี้ไม่นำออกมาเผยแพร่เพราะเป็นภาพที่ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมเท่านั้น)  ภาพวาดเทพเจ้าที่นำมาจัดแสดงครั้งนี้ เป็นภาพเทพเจ้าที่ชนเผ่าเย้านับถือสูงสุด ให้ความสำคัญและเชื่อว่ามีอิทธิฤทธิ์มาก ซึ่งเทพเจ้าเหล่านี้มักจะปรากฎในภาพวาดเทพเจ้าที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของชาวเย้า ภาพวาดของเทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์นี้ถือได้ว่าเป็นภาพทางศาสนามิใช่เพื่อการประดับตกแต่ง แต่ละภาพมีบทบาทเฉพาะในพิธีกรรมและจะถูกนำมาจัดวางในโอกาสที่เหมาะสมเท่านั้น กล่าวได้ว่า เทพเจ้าที่มีสำคัญสูงสุดคือ  เยนสี่ (เริ่มต้นแห่งบุพกาล) เล่งปู้ (อัญมณีศักดิ์สิทธิ์)  โต้ต๊ะ (คุณธรรมแห่งเต๋า) รวมเรียกว่า ฟ่ามซิง (เทพเจ้าสามดาว) ซึ่งเป็นดั่งดาวสามดวงที่สุกสว่างและเด่นชัด ด้วยชาวเย้ามักจะย้ายถิ่นฐานบ่อย จึงไม่นิยมสร้างรูปเทพเจ้าด้วยวัสดุที่ไม่สะดวกต่อการเคลื่อนย้าย เช่น การแกะสลักไม้หรือหิน ภาพวาดเทพเจ้าจึงเป็นเสมือนรูปเคารพที่สำคัญยิ่งของชนเผ่าเย้า แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นภาพที่มีความงดงามอย่างมากในเชิงศิลปะอีกด้วย

ตามธรรมเนียมบุตรชายคนโตของครอบครัวจะได้รับสืบทอดจากบิดามารดา ส่วนบุตรชายคนอื่นจะต้องว่าจ้างให้วาดภาพชุดใหม่ โดยมักจะเป็นจิตรกรชาวจีน จิตรกรจะวาดภาพลงบนกระดาษเยื่อไผ่ที่หนา, กระดาษปอสา ใช้สีจากธรรมชาติที่ผสมกับกาวที่ได้จากการต้มหนังวัว โดยใช้ภาพที่มีอยู่แต่เดิมเป็นต้นแบบ โดยจะเริ่มร่างแบบด้วยการวางกระดาษบางลงไปบนภาพต้นฉบับแล้วลากเส้นตามรอย โดยนำแผ่นกระดาษชั้นแรกยึดไว้กับกรอบเพื่อทำเป็นต้นแบบชั้นล่างและนำกระดาษเยื่อไผ่หรือปอสาที่ค่อนข้างโปร่งบางวางไว้ด้านบน หลังจากนั้นใช้สีขาววาดโครงร่างของเทพเจ้าลงบนกระดาษชิ้นงาน ชาวเย้าเรียกโครงร่างนี้ว่า “กระดูก” เมื่อวาดกระดูกทั้งหมดแล้ว จิตรกร จะเพิ่ม “เลือด เนื้อ” และ “เครื่องแต่งกาย” ด้วยสีที่หลากหลาย ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการทาสีเคลือบด้วยกาว โดยปกติจะทาเฉพาะในบริเวณที่เป็นสีแดงเพื่อให้เกิดความเงางามและมีชีวิตชีวา เพราะชาวจีนมีความเชื่อว่าสีแดงคือ สีแห่งชีวิต

การวาดภาพชุดใหม่ จิตรกรต้องวาดในบริเวณบ้านของผู้ว่าจ้าง โดยจะต้องจัดสถานที่ให้จิตรกรอย่างเหมาะสม เพราะต้องวาดภาพในบรรยากาศของความศรัทธาต่อเทพเจ้า มีความบริสุทธิ์ไร้มลทิน ดังนั้น จึงต้องจัดเตรียมสถานที่เป็นกรณีพิเศษ เช่น ห้องกั้นแยกออกมาในบ้านหรือสร้างโรงเรือนไม้ไผ่บริเวณข้างบ้าน เป็นต้น ผนังของสถานที่วาดภาพจะต้องปิดด้วยกระดาษสีขาวแล้วคลุมด้วยผ้าสีขาวผืนใหม่ การวาดภาพจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ในช่วงเวลาดังกล่าวคนในบ้านและจิตรกรจะต้องครองตนให้ตั้งอยู่ในความดีงาม ไม่ประพฤติผิดจารีตและขนบธรรมเนียม ประเพณีอย่างเคร่งครัด

ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา เทพเจ้าจะไม่สถิตในภาพวาดใหม่ที่วาดโดยจิตรกรที่ไม่ชำนาญ รวมถึงภาพวาดที่แปดเปื้อนและมีมลทิน ซึ่งเกิดขึ้นจากคนในบ้านประพฤติผิดจารีต และขนบธรรมเนียม ประเพณี จะนำมาซึ่งอาเพศจากอาถรรพ์ที่น่าสะพรึงกลัว ดังนั้นชาวเย้าจึงจะไม่ยอมรับภาพวาดที่พวกเขาไม่รู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์และพลังของจิตวิญญาณ ทำให้ภาพเหล่านั้นไร้คุณค่า และไม่สามารถนำมาประกอบพิธีกรรมได้ นอกจากนี้ บ้านหลังใดมีภาพของเทพเจ้าจัดเก็บรักษาอยู่แล้ว ชาวเย้าจะไม่รับภาพชุดอื่นเข้ามาในบ้านอีก เพราะเชื่อว่าอาจจะเกิดสิ่งที่ไม่เป็นมงคลขึ้นได้

ปฐมเหตุของการจัดนิทรรศการนี้ เนื่องมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบภาพเทพเจ้าของชนเผ่าเย้าจากคุณขนิษฐา สุวภาพ รอสโก้ นิสิตเก่าจุฬาฯ รุ่น 2511 หลังจากรับมอบมาแล้ว สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมได้ดำเนินการอนุรักษ์ภาพด้วยความร่วมมือจากคุณขวัญจิต เลิศศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์งานศิลปะและทีมจากบริษัท เคทีซี คอนเซอร์เวชั่น จำกัด หลังจากนั้นจึงเริ่มลงภาคสนาม เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดนิทรรศการภาพวาดประกอบพิธีกรรมของชนเผ่าเย้าในครั้งนี้

สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมขอขอบคุณ ศาสตราจารย์ ดร.ธีระพันธ์ เหลืองทองคำ, อาจารย์แคะเว่น ศรีสมบัติ ประธานเครือข่ายผู้รู้ภูมิปัญญาชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยนแห่งประเทศไทยและเป็นลูกหลานของผู้นำเผ่ารุ่นที่ 5, คุณเฟย ศรีสมบัติ อดีตประธานสตรีชนเผ่าเย้า, คุณสุขเกษม โชคทรัพย์อนันต์ ประธานศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมบ้านห้วยชมภู (อิ้วเมี่ยน), คุณพรชัย ประเสริฐสุขกุล, คุณอรพรรณ ศิริธนากร, คุณเบี้ยน พุจิ้ง, คุณทัศนชัย ศรีสมบัติ, คุณอ่งไหน เตรียมพนา, ชาวเย้า ณ บ้านห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า นิทรรศการ “ต้ม ต้อง เมี้ยน” จะเป็นประโยชน์และเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวทางคติชนวิทยา และแสดงถึงความงามทางด้านศิลปะควบคู่ไปด้วยได้เป็นอย่างดี รวมทั้งเผยแพร่งานศิลปะสะสมทรงคุณค่าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สู่สาธารณชนสืบไป