ในปีงบประมาณ 2567 พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนที่มีความหลากหลายทางด้านเนื้อหาและกลุ่มผู้เข้าชม และจัดกิจกรรมพิเศษสำหรับเยาวชน โดยความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ซึ่งทั้งหมดเปิดให้เข้าชมและร่วมงานได้โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย มีดังนี้
นิทรรศการ
(1) นิทรรศการภาพวาดประกอบพิธีกรรมของชาวเผ่าเย้า “ต้ม ต้อง เมี้ยน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม 2566 – 10 มกราคม 2567 นำเสนอตำนาน ลายปักผ้า พิธีกรรมทางศาสนา อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในพิธีกรรม และที่สำคัญคือ จัดแสดงภาพวาดเทพเจ้าที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมในเชิงสุนทรียศาสตร์ทางศิลปะ ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีน เพื่อเข้าใจชีวิต พิธีกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความเชื่อทางศาสนาของชาวเย้า
(2) นิทรรศการหินและแร่ “ขุมทรัพย์ธรรมชาติ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2566 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม ร่วมมือกับภาควิชาธรณีวิทยาและพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเนื้อหาด้านธรณีวิทยาบางส่วนที่เกิดขึ้นในห้องเรียนมาผนวกกับการนำเสนอทางด้านศิลปะ เผยแพร่ข้อมูลให้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นแก่ผู้ที่สนใจทั่วไป
ภายในนิทรรศการนำเสนอข้อมูลพื้นฐานแบบอ่านง่าย ๆ และมีหินและแร่ซึ่งเป็นวัตถุจริงจัดแสดง ไฮไลท์ของนิทรรศการคือ การเรืองแสงของแร่ฟลูออเรสเซนต์ (fluorescence) กว่า 20 ก้อน ในห้องแบล็คไลท์
(3) นิทรรศการการวิจัยสร้างสรรค์ “พายุ” การสร้างสรรค์จิตรกรรมร่วมสมัยจากฮูปแต้มสองฝั่งโขงไทย-ลาว สู่การแปรเปลี่ยนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เป็นผลงานของศิลปิน อนุโรจน์ จันทร์โพธิ์ศรี จัดแสดงเมื่อวันที่ 13 มีนาคม – 30 พฤษภาคม 2567 เกิดขึ้นจากการนำลายเส้นจากฮูปแต้มจากสิม วัดสนวนวารีพัฒนาราม จ.ขอนแก่น รวมถึงข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และข้อมูลทางเอกสารมาพัฒนาลายเส้นขึ้นใหม่ให้เป็นแบบเฉพาะของตนซึ่งแตกต่างไปจากเดิม โดยใช้เทคนิค อาทิ การลงรองพื้นด้วยพาราฟินเพื่อให้พื้นผิวเกิดลวดลายที่มีความแตกหัก การจารเพื่อให้เกิดเส้นที่คมชัด การเขียนลายเส้นลงบนผ้าด้วยเหล็กแหลมทำให้เกิดรูปร่างและทรง บาติกและมัดย้อมโทนสีน้ำเงิน ดำ และน้ำตาลเป็นหลักทำให้ภาพมีความเข้มขรึม เป็นต้น
(4) นิทรรศการ “ก่ออิฐเป็นมหาวิทยาลัย” จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 107 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 30 สิงหาคม 2567 โดยสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนจากคณาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสำนักบริหารระบบกายภาพ ซึ่งภายในนิทรรศการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการก่อสร้างตึกบัญชาการหรือ “อาคารมหาจุฬาลงกรณ์” ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอาคารประวัติศาสตร์หลังแรกเมื่อเริ่มตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิทรรศการจัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม ลวดลายปูนปั้นต่าง ๆ ตลอดจนองค์ความรู้ในการบูรณะและอนุรักษ์อาคารสำคัญที่สุดหลังนี้ของมหาวิทยาลัย ทั้งในรูปของบทความ ภาพถ่าย วีดิทัศน์ เทคโนโลยีจำลองวัตถุสามมิติ (Augmented Reality) ภาพจำลอง 360 องศา เป็นต้น
(5) นิทรรศการ “Happiness Within” จัดแสดงระหว่างวันที่ 26 มิถุนายน – 6 สิงหาคม 2567 นำเสนอการสร้างความสุขจากความสมดุลภายในจิตใจของตนเอง โดยใช้ศิลปะในการแสดงเรื่องราวการค้นพบความสุขที่อยู่ภายในตัวเรา และการเรียนรู้การติดต่อกับความสุขนั้น ผ่านการเรียนรู้ที่จะรับมือกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในเชิงบวก การแสดงออกทางอารมณ์หรือการเชื่อมโยงกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง โดยนิทรรศการครั้งนี้จัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินสองท่าน คือ นภัสญาณ์ นาวาล่อง (Mindmelody) และ ไกรพล กิตติสิโรตม์ (Double E) ที่ใช้สื่อต่างชนิดกันมาเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องและสร้างความตระหนักให้กับผู้ชมผ่านผลงานที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงความสุขและความสมดุลในชีวิตของเรา
“Happiness Within” ไม่เพียงแค่เป็นการนำเสนองานศิลปะ แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยเสริมสร้างความหวัง ความกล้าหาญ และความเข้าใจในการค้นหาความสุขและความพึงพอใจในชีวิตของเราเอง ทั้งนี้ เพื่อให้เราสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขและสร้างสังคมที่มีคุณค่าที่มั่นคงอย่างยั่งยืน
(6) นิทรรศการ “ตุ๊กตาสังคโลกนิวเจน” จัดแสดงระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 27 กันยายน 2567 นำเสนอผลงานสร้างสรรค์ที่ได้จากการวิจัยออกแบบเซรามิกตุ๊กตาสังคโลกที่สะท้อนถึงยุคสมัย โดยเก็บข้อมูลด้วยการให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในกลุ่มเจนเนอเรชั่นซี* (Generation Z) ร่วมสร้างภาพแบบร่าง(Sketch) ด้วยกลุ่มเจนเนอเรชั่นนี้เป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงโลก และวัฒนธรรมได้หลายแง่มุมตลอดเวลาซึ่งก่อให้เกิดการสร้างกระแสนิยม หรือเทรนด์ (Trend) ใหม่ ๆ อยู่เสมอ
ภายในนิทรรศการจัดแสดงข้อมูลกระบวนการผลิต รูปแบบสังคโลกในอดีตและรูปแบบสังคโลกแนวใหม่ของศิลปิน(ชนากานต์ เสมาชัย) ที่ร่วมออกแบบกับกลุ่มเด็กนักเรียนเจนเนอเรชั่น Z (กลุ่มคนในช่วงอายุระหว่าง 8-15 ปี ที่กำลังศึกษา อยู่ในชั้นประถมศึกษาตอนปลายถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น) ซึ่งเป็นการผสมผสานรูปแบบ และความงามร่วมสมัย ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการเป็นการให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการออกแบบตุ๊กตาสังคโลกตามจินตนาการของตนเองภายใต้ความคิด “ตุ๊กตาสังคโลกของคุณเป็นแบบไหน”
กิจกรรมพิเศษ
(1) เทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน นำโดยพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือข่ายภายในมหาวิทยาลัยอีก 8 แห่ง ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาฯ พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา พิพิธภัณฑ์พืช ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ ภาควิชาจุลชีววิทยา ภาควิชาฟิสิกส์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ เข้าร่วมเทศกาลท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน ในชื่อ “NIGHT MUSEUM @ CHULA” ระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2566 เปิดให้เข้าชมนิทรรศการเป็นวาระพิเศษในเวลา 16.00-22.00 น.พร้อมด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ ส่องฟอสซิลช้างไทย ดูดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ ทดลองผ่าศึกษาอวัยวะภายในของฉลาม เป็นต้น
(2) กิจกรรมวันเด็ก Children’s Day @ Chula 2024 “สร้างสรรค์ – เรียนรู้ – เล่นสนุก” สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรมร่วมกับพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาฯ สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ภาควิชาหลักสูตรและการสอน และสาขาวิชาศิลปศึกษา ภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมวันเด็ก เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 เปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ และครอบครัวได้สนุกไปกับการเรียนรู้ด้านศิลปะ ดนตรี และวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ ผ่าจระเข้ วาดภาพระบายสี เพ้นท์ก้อนหิน กิจกรรมโรยทรายประกายมุกจากเปลือกหอยแมลงภู่ เล่นสนุกกับ เล่นเพลิน Loose parts play space ฟังเพลงเพราะ ๆ กับศิลปินตัวน้อยร่วมกับวง CU Chamber และชมการแสดงของคณะนักร้องประสานเสียงเด็กประเทศไทย
พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย
วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00-17.00 น.
โทร. 02-218-3645 -6
Facebook: www.facebook.com/chulamuseum/
แผนที่: https://goo.gl/maps/Xvf1B469MJToPjcV9