การแสดงดนตรีไทยรายการ “ฟังดนตรีที่จุฬาฯ” ต่อยอดมาจากรายการจุฬาวาทิต ซึ่งเป็นรายการแสดงดนตรีไทยเดิม ที่เริ่มจัดขึ้น ณ เรือนไทยจุฬาฯ ทุกวันศุกร์แรกของเดือน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 โดยสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยไทย  จากนั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา เมื่อมหาวิทยาลัยสร้างหอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรมเสร็จสมบูรณ์ จึงได้ย้ายการจัดการแสดงมาที่นี่  ต่อมาจึงมีการจัดการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยเพิ่มเติม และเปลี่ยนชื่อมาเป็นรายการ “ฟังดนตรีที่จุฬาฯ” เพื่อกระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้สนใจดนตรีไทย โดยเริ่มจากรูปแบบที่สามารถเข้าถึงและฟังได้ง่าย มีวัฒนธรรมการรับชมรับฟัง และสนับสนุนการแสดงดนตรีไทยมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

รายการ “ฟังดนตรีที่จุฬาฯ” มีเป้าหมายในการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ บูรณาการ สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และส่งต่อนวัตกรรมด้านดนตรีให้กับประชาคมจุฬาฯ และบุคคลทั่วไปได้เข้ามามีส่วนร่วม นิสิตเอกดนตรีไทย คณาจารย์ นักดนตรีอาชีพ มีเวทีสำหรับแสดงความสามารถ เผยแพร่งานวิจัย ฝึกปรือฝีมือ และสั่งสมประสบการณ์  นอกจากนี้ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรมยังให้บริการพื้นที่สำหรับประชาคมจุฬาฯ เพื่อใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน และเสริมสร้างประสบการณ์ของนิสิต โดยยกเว้นค่าเช่าใช้พื้นที่ จัดเก็บเพียงสาธารณูปโภคเท่านั้น (nominal rate) และยังตั้งอยู่ใจกลางเมืองและเดินทางสะดวกสำหรับทั้งผู้แสดงและผู้เข้าชม

ในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มหาวิทยาลัยปิดทำการชั่วคราว ส่งผลให้รายการฟังดนตรีจุฬาฯ ต้องงดจัดการแสดงเป็นระยะเวลาหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ  เพื่อยังคงให้งานด้านการแสดงและเผยแพร่ดนตรีไทยดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยให้นักดนตรียังมีรายได้ ผู้ชมผู้ฟังดนตรียังคงได้รับความรู้และความบันเทิงอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์  ทางสำนักฯ จึงได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการเป็น ‘ฟังดนตรีที่จุฬาฯ ONLINE’ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักดนตรีและผู้ฟังดนตรีเป็นหลัก ปรับเป็นการให้ผู้ฟังรับชมการแสดงดนตรีผ่านทาง Facebook LIVE (https://www.facebook.com/cuartculture) และ Youtube LIVE (https://www.youtube.com/c/cuartculture) ทำให้เกิดสถิติยอดเข้าชมสูงขึ้นมากกว่า 400% หรือ 20,000 ครั้ง/การแสดง โดยช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม – เดือนกันยายน 2563 มีผู้เข้าชมรวมประมาณ 77,600 ครั้ง และเกิดการเข้าถึงในหลากหลายกลุ่มอาชีพ หลากหลายภูมิภาคในประเทศ และหลากหลายทวีปทั่วโลก อาทิ เอเชีย อเมริกา ยุโรป

ตัวอย่างการแสดง “ฟังดนตรีที่จุฬาฯ ONLINE”