สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ของชาวไทย ผู้ซึ่งมีพระราชกรณียกิจหลายด้านอันเป็นคุณูปการต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่าเป็นอย่างยิ่ง ทั้งด้านการศึกษา การเกษตร การศาสนา การแพทย์และสาธารณสุข การอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น องค์การวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงได้เฉลิมพระเกียรติยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก (เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2543 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพครบรอบ 100 ปี)
ดังนั้นในปี พ.ศ. 2563 เป็นโอกาสครบ 120 ปีวันคล้ายวันพระราชสมภพของท่าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับมูลนิธิสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์ จัดการแสดงดนตรีเฉลิมพระเกียรติขึ้นในงานวันมูลนิธิสิรินธร ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชนิพนธ์บทเพื่อใช้ขับร้องและแสดงชื่อว่า “สมเด็จย่าเสด็จฯ พิชิตยอดดอยอินทนนท์” และทรงดนตรีร่วมกับนักดนตรีวงสายใยจามจุรี ซึ่งเป็นนิสิตเก่า คณาจารย์และบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การแสดงดนตรีและนาฏศิลป์ไทยและร่วมสมัย “สมเด็จย่าเสด็จฯ พิชิตยอดดอยอินทนนท์” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเสด็จขึ้นไปยังยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ด้วยการพระดำเนินจากดอยผาหมอนด้วยพระบาทตลอดระยะทาง เมื่อทรงมีพระชนมายุ 64 พรรษา ซึ่งนับได้ว่าทรงมีพระวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง พระราชนิพนธ์ดังกล่าวนับเป็นวรรณกรรม ร้อยกรองที่ไพเราะ เล่าถึงธรรมชาติระหว่างทาง สัตว์ทั้งหลายในป่า ชาวเขาที่มาเฝ้ารับเสด็จ เมื่อขับร้องร่วมกับเพลงซึ่งประพันธ์ขึ้นใหม่โดย อาจารย์ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ศิลปินแห่งชาติ(ด้านดนตรีไทย) ร่วมด้วยการแสดงนาฏยศิลป์ลีลาแบบร่วมสมัย ซึ่งออกแบบโดย ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิรุฬหรักษ์ นายกราชบัณฑิต ทำให้รายการแสดงดังกล่าวมีทั้งความไพเราะและสวยงามเป็นอย่างยิ่ง
ในส่วนของการบรรเลงดนตรี เป็นการจัดการผสมผสานให้เกิดองค์ความรู้ทางดนตรีรูปแบบใหม่ มีการเรียบเรียงเสียงประสานและจัดการบรรเลงร่วมกันระหว่างดนตรีไทย ดนตรีตะวันตก และดนตรีพื้นบ้านภาคเหนือ ผสานด้วยการแสดง ฉากและแสงสีที่กลมกลืนและสวยงามยิ่ง
ทั้งนี้ องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียง (TPBS) ได้ขออนุญาตถ่ายทอดรายการดังกล่าวออกสู่สาธารณชนผ่านสถานีโทรทัศน์ และเผยแพร่ในระบบออนไลน์ ทำให้มีผู้ได้รับชมเป็นจำนวนมากกว่า 30,000 คน
ผู้สนใจสามารถรับชมบันทึกการแสดงได้ที่ https://www.facebook.com/ThaiPBS/videos/397070461490216 หรือ https://youtu.be/UwcuxcLTdqI
ผลจากการแสดงดังกล่าว นอกจากจะเป็นการสร้างองค์ความรู้ทางดนตรีและนาฏศิลป์ร่วมสมัยรูปแบบใหม่ และเป็นการเผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมอย่างแพร่หลายแล้ว มูลนิธิสิรินธร ในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรักษา การศึกษาด้านการพยาบาลและการก่อสร้างบูรณะโรงพยาบาล รวมทั้งทำนุบำรุงพระศาสนา ยังได้รับบริจาคเงินจากผู้เข้าชมการแสดงในครั้งนี้เป็นจำนวนกว่า 15 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านสาธารณสุขอีกด้วย