๙๔
กำเนิดวันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติมีความสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายเรื่อง “ปัญหาการใช้คำไทย” ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทยคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ ในครั้งนั้นได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในปัญหาการใช้ภาษาไทยจนเป็นที่ประทับใจผู้ร่วมประชุมเป็นอย่างมาก ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยคนับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทยซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอจึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้…สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามีอยู่แล้วไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”
ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๒ เห็นชอบให้กำหนดวันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย รวมทั้งเพื่อร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ตลอดจนเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทยอันจะนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป