“ต้นจามจุรี” เป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาฯ ตั้งแต่ยุคแรกๆ ถือเป็นสัญลักษณ์ของสถาบันแห่งนี้ ความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับต้นจามจุรี จึงมีมานานเท่ากับประวัติของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของวังวินเซอร์ หรือวังใหม่ประทุมวัน รวมถึงบริเวณตึกบัญชาการ หรืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน ต้นจามจุรีก็มีอยู่แทบทุกพื้นที่ แผ่กิ่งก้านให้ชาวจุฬาฯ รุ่นบุกเบิกได้อาศัยทำกิจกรรม อ่านหนังสือ และพักผ่อนหย่อนใจ

ประมาณพุทธศักราช 2443 มิสเตอร์ เอช. สเลด (Mr. H. Slade) ชาวอังกฤษซึ่งรับราชการเป็นเจ้ากรมป่าไม้ (อธิบดีกรมป่าไม้คนแรก) ได้นำพันธุ์ต้นจามจุรี (ชื่อวิทยาศาสตร์ Samanea saman (Jacq.) Merr.) จากประเทศพม่ามาปลูกเป็นครั้งแรก ณ ที่ทำการป่าไม้เขตเชียงใหม่ และนำมาปลูกตามริมถนนในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ อย่างแพร่หลาย เพราะเป็นไม้โตเร็ว แผ่กว้างให้ร่มเงา ทั้งยังมีประโยชน์อีกหลายประการ เช่น เนื้อไม้นำมาใช้แทนไม้สัก เนื่องจากความแข็งแรง ลายไม้ก็สวยงาม ใบและฝักเป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ซึ่งส่งผลให้แม่วัวมีคุณภาพน้ำนมที่ดีขึ้น ดังนั้น ต้นจามจุรีที่กระจายอยู่ทั่วไป จึงเป็นแหล่งอาหารอย่างดีของวัวที่เคยเลี้ยงอยู่ในท้องที่นี้ก่อนการสถาปนามหาวิทยาลัยนั่นเอง

ช่วงพุทธศักราช 2490 กิจกรรมรับน้องใหม่ของจุฬาฯ เริ่มมีการนำก้านใบจามจุรีมาทำเป็นมาลัย และใช้ใบโปรยต้อนรับน้องใหม่ ส่วนบรรดานักกีฬาของมหาวิทยาลัยที่ได้รับชัยชนะ ก็จะได้รับมาลัยใบจามจุรีเป็นรางวัลเพิ่มด้วย บทบาทในฐานะสัญลักษณ์ของจุฬาฯ มีมากยิ่งขึ้น ดังเช่นเพลง “จามจุรีศรีจุฬาฯ” ที่ครูแก้ว อัจฉริยะกุล นำข้อสังเกตการเปลี่ยนแปลงของต้นจามจุรีว่า ออกดอกช่วงปลายปีการศึกษา ฝักหล่นช่วงกลางปีการศึกษา จึงนำมาบอกเล่าชีวิตนิสิตจุฬาฯ บรรจุทำนองอันไพเราะของครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงเป็นบทเพลงแรกของจุฬาฯ ที่กล่าวถึงต้นจามจุรี

ตั้งแต่ครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยเสด็จพระราชดำเนินรัชกาลที่ 8 มายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพุทธศักราช 2489 และต่อมาอีกหลายวาระ ทั้งทรงมาร่วมกิจกรรมของนิสิต การพระราชทานปริญญาบัตร หรือวันทรงดนตรี จึงทรงสังเกตได้ถึงจำนวนต้นจามจุรีในจุฬาฯ ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากการที่มหาวิทยาลัยโค่นไม้ใหญ่เพื่อใช้พื้นที่จัดสร้างอาคาร บรรดาไม้ใหญ่ให้ร่มเงาเหล่านี้จึงหายไปจนบางตา

ถึงวันที่ 15 มกราคม 2505 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประสานมายังมหาวิทยาลัยว่า ในช่วงบ่ายวันนั้น จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นจามจุรีที่ได้ทรงนำมาจากพระราชวังไกลกังวลเป็นการส่วนพระองค์ บรรดาคณาจารย์และนิสิตที่ได้ทราบข่าว ต่างพร้อมกันมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ อย่างเนื่องแน่น คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้ถวายการช่วยเหลือขณะที่ทรงปลูกต้นจามจุรีทั้ง 5 ต้นนั้นอย่างใกล้ชิด

ภายหลังทรงปลูกต้นจามจุรีแล้ว ได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายแก่ชาวจุฬาฯ ที่บริเวณด้านหน้าหอประชุม ความตอนหนึ่งว่า

“…ห้าต้นนี้ได้เลี้ยงตั้งแต่เกิด คือว่าปีที่แล้วไปที่หัวหินแล้วก็ปลูกต้นไม้ พวกนี้ก็เกิดมาด้วย เมื่อเกิดมาแล้วสงสารก็ต้องเลี้ยง เลี้ยงจนเติบโตพอควรก็เห็นว่าโตแล้ว ควรเข้ามหาวิทยาลัยเสียที แล้วก็มหาวิทยาลัยที่เหมาะสมก็ที่นี่ เพราะว่าเขาเอ็นดูต้นจามจุรี

ก็เชื่อว่าต้นไม้ทั้งห้าต้นนี้ นิสิตทั้งหลายคงรักษาไว้ให้เติบโต ไม่ให้ล้มตาย คือต้นไม้พวกนี้ ก็คงจะเป็นความสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยต่อไป…

…ฝากต้นไม้ไว้ให้ห้าต้น ให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล”

เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ย้ำเตือนถึงความสำคัญของต้นจามจุรี ในฐานะต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย นำมาสู่การอนุรักษ์พรรณไม้นี้ในให้คงอยู่คู่จุฬาฯ ต้นจามจุรีทั้ง 5 ต้นที่ทรงปลูกไว้เมื่อ 60 ปีก่อน ยังคงหยั่งรากลึกอยู่ด้วยความดูแลเอาใจใส่ เช่นเดียวกับต้นจามจุรีอื่นๆ ที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณมหาวิทยาลัย ทั้งจากการบำรุงรักษาตามหลักวิชา และด้วยความผูกพันที่ชาวจุฬาฯ มีต่อต้นจามจุรีเสมอมา

“ณ อุทยานนี้งามด้วยจามจุรี เขียวขจีแผ่ปกพสกจุฬาฯ
ไพศาลตระหง่านสาขา ใต้ร่มพฤกษาจุฬาฯ ร่มเย็น”

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall