เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่่บัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในท้ายพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงแจ้งข่าวต่อที่ประชุมว่า พระองค์จะไม่ประทับอยู่เพื่อเสวยพระสุธารสอย่างเคย เนื่องด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะทรงมีพระประสูติกาลสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ ที่ประชุมจึงร่วมใจกันถวายพระพรชัยมงคล
ด้วยเหตุที่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์ใหม่ประสูติในช่วงเวลาที่เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานพระนามให้มีคำว่า “จุฬา” อยู่ในพระนามนั้นด้วย และได้พระราชทานนามว่า เจ้าฟ้า “จุฬาภรณ์”…
“…ต่อมาคณะนิสิตได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าถวายพระพรเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นิสิตเข้าเฝ้าในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2500 ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร เริ่มเวลาประมาณ 16.00 เป็นต้นไป
ขณะนั้นสถานีวิทยุ อ.ส. (อัมพรสถาน) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทำการส่งกระจายเสียงอยู่ ณ พระตำหนักอัมพรสถาน ยังไม่ได้ย้ายไปทำการ ณ พระตำหนักจิตรลดา และเนื่องด้วยวันนั้นเป็นวันศุกร์ ตรงกับวาระที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจะทรงดนตรีร่วมกับวงดนตรีลายครามเพื่อออกอากาศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวงดนตรีมาออกอากาศที่เวทีลีลาศ สวนอัมพร เพื่อให้นิสิตได้ชมไปพร้อมกับการเข้าเฝ้า
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรับสั่งให้นิสิตทำตัวตามสบาย ไม่เป็นทางการ ให้ถือว่าอยู่ในบ้านของพระองค์ท่าน ทรงมีพระราชดำรัสว่า “นิสิตทั้งหลาย ข้าพเจ้ามีความยินดีที่ได้เห็นพวกท่านมาอวยพรลูกคนเล็กของข้าพเจ้า ลูกคนนี้ออกจะโชคดีที่มีคนมาอวยพรเป็นจำนวนมาก เมื่อโตขึ้นและรู้คงจะพอใจและภูมิใจมาก”
“พระราชินีดีใจมากและอยากมา แต่เสียใจที่มาไม่ได้เพราะจะต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูก โอกาสที่ท่านมาชุมนุมกันนี้ พอดีเป็นวันที่วงดนตรีของสถานีวิทยุ อ.ส.ออกอากาศ วงดนตรีนี้เล่นกันอย่างเลอะๆ เทอะๆ บางทีควรจบก็เล่นต่อไป บางทียังไม่ทันจบก็รีบจบ บางทีมีคนขอเพลงมาไม่เคยได้ยินก็เปิดแผ่นเสียงให้ฟัง ก็เล่นกันไป เล่นอย่างกันเอง วันนี้ก็ขอให้นิสิตเป็นกันเอง..”
บรรยากาศในวันนั้นเป็นวันที่ประทับใจ นิสิตต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ นับเป็นการเริ่มต้นของประเพณีการจัดงานวันทรงดนตรีเป็นการส่วนพระองค์ด้วย…”
จาก “เรื่องเล่าชาวจุฬาฯ : สันทัด ตัณฑนันทน์ นิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2498-2503 นิสิตเก่าครุศาสตร์ ปีการศึกษา 2504-2505 ” วารสารจามจุรี ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2560
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ