ทูล เสนาบดีกระทวงธรรมการทรงทราบ
ด้วยคราวที่หม่อมฉันได้ไปดูจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เห็นสโมสรสถาน
ทำให้รู้สึกสลดใจเป็นอย่างยิ่งว่าเลวเต็มที
จึงได้ทูลปรึกษาหม่อมเจ้ารัชฏาภิเษก ว่าจะทำใหม่ ที่ไหนและอย่างใด และจะเปนเงินสักเท่าใด
ท่านก็ไปทรงคิดดู และเมื่อมาบอก หม่อมฉันเห็นว่าเปนความคิดที่ดีอย่างยิ่ง
และเงินก็ทรงกะว่าเปนจำนวน 20,000 บาท
จึงมีใจอยากจะบริจาคทรัพย์ส่วนตัว เพื่อสร้างสโมสรสถานนี้ อุทิศกุศลถวายพ่อ
และขอประทานพระกรุณาฝ่าพระบาท ให้ได้นามแก่สถานที่ว่า หอ หรือสถานจักรพงษ์
เปนที่ระลึกถึงพระองค์ท่านสืบไป…”
(ลายพระหัตถ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทูลพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น)

ในปีพุทธศักราช 2475 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างอาคารสโมสรสถานของนิสิต ตามพระดำริของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ประทานนามว่า “ตึกจักรพงษ์” ถวายเป็นพระกุศลแด่พระชนก สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 6 เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ต่อมา ในปีพุทธศักราช 2497 ได้ประทานเงินอีก 200,000 บาท เพื่อต่อเติมด้านหลังของตึกจักรพงษ์ ประทานนามว่า “อาคารต่อเติมจุลจักรพงษ์บุญนิธิ”

“ตึกจักรพงษ์” ได้ใช้เป็นอาคารทำการของสโมสรนิสิต จนถึงปีพุทธศักราช 2528 จึงย้ายไปอาคารกิจกรรมนิสิต ที่ได้ตั้งนามเทิดพระเกียรติว่า “จุลจักรพงษ์” ในปีนั้นเอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รวบรวมเอกสาร รวมถึงวัตถุสำคัญอันเกี่ยวข้องกับประวัติของมหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำเนินการซ่อมแซมตึกจักรพงษ์เพื่อใช้เป็นที่ทำการของหอประวัติจนถึงปัจจุบัน

ระลึกพระคุณผู้เกื้อหนุนจุฬาฯ
วันคล้ายวันประสูติ
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
ผู้ทรงสร้างตึกจักรพงษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
28 มีนาคม 2451

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ