“ตอนที่เข้ามาเป็นนิสิตก็ลำบากเต็มทน เพราะว่ามันก็คงแปลก เป็นเจ้านายงานการเยอะแยะ จะมัวมาเรียนอยู่ทำไม แต่ว่าก็เห็นมีอยู่ในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใครเอาแปะไว้ในจุฬาฯ ว่า ท่านมีพระราชปณิธานให้คนทุกคนในราชอาณาจักร ลูกหลานของท่านมาถึงประชาชนทุกคนให้มีโอกาสได้เล่าเรียนเสมอกัน เหลนของท่านก็ควรจะมีโอกาสได้เล่าเรียนเหมือนกัน

ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าอย่างไร อาจจะกระทำไม่สมควรคือ แทนที่จะบนเหมือนคนอื่นเขา หรือใช้วิธีต่างๆ ก็กลับไปต่อรองท่าน บอกว่า เคยเห็นว่าท่านมีพระราชดำรัสดังกล่าว ถ้าเห็นว่าเป็นคนมีศักยภาพ ก็ควรจะเข้าเรียนได้ คือภาษาสมัยใหม่เรียกว่าต้นทุนเสียโอกาส คือเสียเวลาทำงานอื่นๆ มาเรียนซะหน่อย ต่อไปจะสามารถทำหน้าที่การงานได้ดียิ่งขึ้น ถ้าท่านเห็นสมควรก็ให้เข้าได้ จากนั้นก็สอบเข้าจุฬาฯ ได้ อันนี้คือเคล็ดลับที่ทำให้เข้าจุฬาฯ ได้

พอเข้ามาถึงในสมัยนั้น รุ่นพี่ก็อบรมว่า การที่สอบเข้ามาได้ อย่าถือว่าเป็นคนรํ่ารวย เสียเงินค่าหน่วยละ 25 บาท ก่อนหน้านี้ยังมีค่าธรรมเนียมและค่าอื่นๆ อีก และเทอมนึงมี 18 หน่วยกิต อย่าคิดว่าเป็นความรํ่ารวยของตัวเอง อย่าคิดว่ามีเงินจ่าย ประชาชนทั้งหลายเลือกให้เรามาเป็นตัวแทนศึกษาเล่าเรียน ก็ขอให้ตั้งใจในการศึกษาหาความรู้ หาความชำนาญในงานต่างๆ เพื่อต่อไปจะให้ออกมารับใช้เขา…”

(ความตอนหนึ่งจากการพระราชทานสัมภาษณ์พิเศษ “ความทรงจำในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ในงานคืนเหย้าชาวจุฬาฯ ’90 ปี จามจุรีรวมใจ‛)

2 เมษายน 2563 อภิลักขิตสมัยวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระชนมายุเป็นปีที่ 65

น้อมถวายชัยมงคลขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ