63 ปีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
10 กรกฎาคม 2500 – 2563

การศึกษาวิชาครูในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นในรัชกาลที่ 5 โรงเรียนฝึกหัดครูก่อตั้งขึ้นด้วยความประสงค์ที่จะผลิตครูขึ้นให้ทันต่อการขยายการศึกษาในระดับต่างๆ เมื่อโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดตั้งขึ้นในพุทธศักราช 2453 การศึกษาวิชาครูได้เข้ามาเป็นแผนกหนึ่งในโรงเรียนนี้ด้วย โดยรวมโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์บ้านสมเด็จพระยาเข้ามาเป็นแผนกคุรุศึกษา

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชประสงค์ให้โรงเรียนฝึกหัดครูเข้ามารวมอยู่ในมหาวิทยาลัย มีรับสั่งต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกกรรมการจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ว่า “ให้ยกโรงเรียนฝึกหัดครูมารวมด้วย เพราะการศึกษาจะเจริญต้องมีครูมากๆ” เมื่อสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพุทธศักราช 2459 แผนกฝึกหัดครูเข้ามาสังกัดอยู่ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จนถึงปีพุทธศักราช 2461 แผนกนี้จึงได้ย้ายออกไปสังกัดกรมศึกษาธิการ

กระทรวงธรรมการได้วางรูปแบบการฝึกหัดครูขึ้นใหม่ โดยกำหนดเป็นชั้นประกาศนียบัตรในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 2 ปี และวิชาครู 1 ปี แผนกฝึกหัดครูจึงกลับมามีขึ้นในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์อีกครั้ง จนมีผู้สำเร็จการศึกษาประโยคครูมัธยมเป็นรุ่นแรกเมื่อพุทธศักราช 2473 ต่อมา คณะวิทยาศาสตร์แยกออกไปตั้งเป็นคณะ และเปลี่ยนชื่อแผนกฝึกหัดครูเป็นแผนกครุศาสตร์ สังกัดในคณะอักษรศาสตร์ ถึงปี 2491 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์

เพื่อให้การดำเนินงานหลักสูตรถึงขั้นปริญญา และสามารถขยายการงานด้านครุศึกษาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกครุศาสตร์ในขณะนั้น จึงขอขยายแผนกครุศาสตร์มาจัดตั้งเป็นคณะได้สำเร็จเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2500 และจัดตั้งในพื้นที่อีกด้านหนึ่งของถนนพญาไท ทั้งขอขยายสัญญาของมหาวิทยาลัยอินเดียน่าและกรมการฝึกหัดครู ให้รวมความช่วยเหลือแก่คณะครุศาสตร์อีกด้วย

ปัจจุบัน คณะครุศาสตร์เป็นสถาบันผลิตครูและนักการศึกษาชั้นนำ มุ่งสร้างองค์ความรู้และพัฒนาการนวัตกรรมทางการศึกษาที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เปิดสอนระดับปริญญาบัณฑิตและบัณฑิตศึกษา ในสาขาวิชาต่างๆ อาทิ การศึกษาปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา เทคโนโลยีการศึกษา จิตวิทยาการปรึกษา การแนะแนว และการศึกษาพิเศษ ศิลปศึกษา ดนตรีศึกษา ธุรกิจศึกษา ฯลฯ รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ Teaching English as a Foreign Language (TEFL) ในระดับปริญญาโท

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ