24 ปีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7 กรกฎาคม 2539 – 2563
การศึกษาด้านจิตวิทยาในประเทศไทย เริ่มต้นจากการเรียนการสอนในโรงเรียนฝึกหัดครู เมื่อสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อพุทธศักราช 2459 จิตวิทยาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนการสอนของแผนกฝึกหัดครู คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ความสนใจด้านจิตวิทยาในประเทศไทยก็เริ่มมีมากยิ่งขึ้น จากความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศด้านการศึกษา ที่เข้ามาทำวิจัยเพื่อการพัฒนาในประเทศไทย
พุทธศักราช 2483 นางสาวพูนทรัพย์ ไกรยง อักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุน Barbour ของสหรัฐอเมริกาที่มอบให้กับสตรีในประเทศตะวันออกเพื่อเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมิชิแกน นางสาวพูนทรัพย์สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษา และเดินทางกลับมารับราชการในคณะอักษรศาสตร์ จนกระทั่งดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกครุศาสตร์ ได้ดำเนินการยกฐานะขึ้นเป็นคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อพุทธศักราช 2500 วิชาจิตวิทยา ซึ่งเป็นวิชาสำคัญของการฝึกหัดครูจึงได้รับการส่งเสริมให้ก้าวหน้าทางวิชาการมากยิ่งขึ้น ถึงพุทธศักราช 2505 มีการเปิดสอนหลักสูตรบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาและแนะแนว ทำให้การเรียนการสอนและการวิจัยทางจิตวิทยาได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งพุทธศักราช 2509 จึงได้มีการจัดตั้งแผนกวิชาจิตวิทยา เพื่อจัดการสอนวิชาจิตวิทยาแขนงต่างๆ ครบทั้งปริญญาบัณฑิต บัณฑิตศึกษาและดุษฎีบัณฑิต และวิชาจิตวิทยาในหมวดการศึกษาทั่วไป และหมวดวิชาเลือกเสรี สำหรับนิสิตคณะต่างๆ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความสนใจศาสตร์ด้านจิตวิทยา สอดคล้องกับความต้องการบุคลากรด้านจิตวิทยาที่เพิ่มมากขึ้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี (2 มกราคม 2532 – 31 มีนาคม 2539) ได้สนับสนุนการยกฐานะแผนกวิชาจิตวิทยาโดยบรรจุในแผนพัฒนาการศึกษาระยะที่ 7 (พ.ศ. 2535 – 2539) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อนุมัติให้จัดตั้งคณะจิตวิทยาขึ้น และศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. เทียนฉาย กีระนันทน์ อธิการบดีลำดับต่อมา (1 เมษายน 2539 – 31 มีนาคม 2543) ได้มีนโยบายสนับสนุนและผลักดันการก่อตั้งคณะใหม่ด้วยการจัดสรรงบประมาณเป็นทุนตั้งต้น ให้กับคณะที่กำลังดำเนินการจัดตั้งในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งต่อมาคือ คณะจิตวิทยา คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสหเวชศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา
วันที่ 7 กรกฎาคม 2539 จึงมีการตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะจิตวิทยาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทบวงมหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2539 มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. ปราณี กุลละวณิชย์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการในขณะนั้น เป็นผู้รักษาราชการแทนคณบดีคณะจิตวิทยา จนกระทั่ง รองศาสตราจารย์ ดร. พรรณทิพย์ ศิริวรรณบุศย์ ได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งคณบดีเป็นคนแรกของคณะจิตวิทยา
ปัจจุบัน คณะจิตวิทยา มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมของมนุษย์ อันนำไปสู่แนวทางในการอธิบาย ทำนาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและยั่งยืน เปิดสอนระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา ในกลุ่มรายวิชาต่าง ๆ อาทิ จิตวิทยาการปรึกษา จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาพัฒนาการ และจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์กร รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ The Joint International Psychology Program (JIPP) ในระดับปริญญาบัณฑิต
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ