29 กรกฎาคม วันภาษาไทยแห่งชาติ

“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้…”

ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ในการประชุมทางวิชาการ ชุมนุมภาษาไทย
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505

อันเป็นที่มาของ “วันภาษาไทยแห่งชาติ”

การประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์นั้น จัดขึ้นเป็นปกติทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน และวันอาทิตย์ปลายเดือน เพื่อปรึกษาหารือในปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย

ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 จัดขึ้นในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่า การใช้คำไทยที่แปลจากภาษาต่างประเทศทุกวันนี้นั้น มักไม่ค่อยจะตรงต่อความหมายในภาษาเดิมนัก สมควรที่จะได้วางแนวทางไว้ให้เป็นหลักที่จะปฏิบัติให้สะดวกสืบไป

ในวันนั้น ที่ประชุมประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านภาษาหลายท่าน อาทิ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ และศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล เป็นต้น

การเสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมการประชุมในครั้งนั้นเป็นการส่วนพระองค์โดยแท้ ได้พระราชทานพระราชกระแสแสดงพระราชดำริ และความห่วงใยในการใช้ภาษาไทยหลายประการ ดังเช่นตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสที่เชิญมาข้างต้น

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สนองพระราชดำริในการอนุรักษ์และสืบสานการใช้ภาษาไทยสืบต่อมา โดยจัดตั้ง “คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย สำนักงานมหาวิทยาลัย” เพื่อดำเนินการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมภาษา

คณะกรรมการชุดนี้เองได้เสนอต่อรัฐบาลให้กำหนดวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี อันเป็นวันที่ระลึกถึงการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมการประชุม “ปัญหาการใช้คำไทย” เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 กำหนดวันภาษาไทยแห่งชาติ เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ทั้งร่วมใจกันทำนุบำรุงและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ