11 ปีสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
27 สิงหาคม 2552 – 2563
เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างสมบูรณ์ในทุกด้าน การพาณิชย์เข้ามาเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ส่งเสริมความเจริญของบ้านเมือง การกสิกรรมซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของประเทศในเวลานั้นจึงสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน การส่งเสริมการเกษตรจึงเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยการตั้งโรงเรียนเกษตราธิการ เมื่อพุทธศักราช 2451 โดยใช้วังประทุมวัน (วังวินเซอร์) เป็นที่ตั้ง รวมโรงเรียนแผนที่ โรงเรียนกรมคลอง และโรงเรียนวิชาการเพาะปลูก เพื่อผลิตคนเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ของกระทรวงเกษตราธิการ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยกโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเตรียมยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย “การเพาะปลูก” เป็นหนึ่งใน 8 แผนกวิชา ได้แก่ วิชาแพทย์ อาจารย์ เนติบัณฑิต (กฎหมาย) ราชบัณฑิต (วิชาหนังสืออย่างสูงและการเรียนภาษา) นวโกศล (อินยิเนียร์) พานิชการ (การค้าขาย) กสิการ (การเพาะปลูก) และความรู้การบ้านเมือง (การทูต โปลิติกและการปกครอง) ที่มีพระราชประสงค์ และความประสงค์ของสภาจัดการฯ ให้มีการเรียนการสอน โรงเรียนเกษตราธิการจึงย้ายสังกัดจากกระทรวงเกษตราธิการ ไปสังกัดกระทรวงธรรมการ ในพุทธศักราช 2456 ระหว่างเตรียมการสถาปนามหาวิทยาลัยนี้เอง ได้มีการกำหนดพื้นที่สำหรับจัดการศึกษาด้านเกษตร เช่น สวนพันธุ์พืชและการเลี้ยงสัตว์ หากแต่ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ และคณาจารย์ วิชาการเกษตรในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงยังมิได้จัดตั้งขึ้นในเวลานั้น
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชปรารภอยู่เนืองๆ ถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่ายังขาดการจัดการเรียนการสอนสาขาการเกษตร ทั้งที่ปรากฎอยู่ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และดำริของสภาจัดการฯ นับแต่แรกตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาได้ดำเนินการแล้ว 7 แผนกคงเหลือแต่การกสิกรรม ประกอบกับมหาวิทยาลัยได้ตระหนักว่าประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญในฐานะแหล่งธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรที่ต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันอยู่เสมอ ทั้งเป็นสถาบันการศึกษาที่มีการศึกษาทุกศาสตร์เกี่ยวกับความรู้ด้านการเกษตรทุกขั้นตอน พร้อมด้วยบุคลากร อุปกรณ์และเทคโนโลยี จึงได้มีการระดมความเห็นจากคณาจารย์ผู้เกี่ยวข้อง ภาคราชการ เอกชน ปราชญ์ชาวบ้านและผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย เตรียมการจัดการศึกษาด้านเกษตรขึ้น
จนกระทั่ง สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 715 วันที่ 27 สิงหาคม 2552 จึงมีมติเห็นชอบให้มี “คณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร” และจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร” การดำเนินงานได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ จนสำเร็จเป็นบัณฑิตรุ่นแรกในปีการศึกษา 2556 สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงปรับฐานะเป็น “สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร” ตามประกาศจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ส่วนงานของมหาวิทยาลัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557
ปัจจุบัน สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ตั้งอยู่ ณ อาคารจุฬาพัฒน์ 13 ชั้น 8 กรุงเทพมหานคร และศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาคารชมพูภูคา จังหวัดน่าน เป็นสถาบันผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้และทักษะ เพื่อเป็นผู้ประกอบการสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสืบไป เปิดสอนระดับปริญญาบัณฑิต โดยมีหลักสูตรซึ่งครอบคลุมกลุ่มวิชาต่าง ๆ อาทิ กลุ่มวิชาการผลิต กลุ่มวิชาการแปรรูปและความปลอดภัยอาหาร และกลุ่มวิชาการผลิตและการจัดการด้านสัตว์ เป็นต้น
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ