“พวกเรา (นิสิตแพทย์จุฬาฯ) รุ่นนั้น มีอยู่ด้วยกันไม่กี่คน อาจารย์ก็มีไม่มาก จึงมีความสนิทสนมกันมาก ระหว่างอาจารย์กับลูกศิษย์ สมเด็จพระราชบิดา ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเฉลิมพระนาม สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกนั้น พวกเราเรียกพระองค์ว่า “ทูลกระหม่อมแดง” ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงสงขลานครินทร์ คนทั่วไปเรียกกรมหลวงสงขลาฯ แต่ที่ใกล้ชิดก็เรียก “ทูลกระหม่อมแดง” อย่างที่พวกเราเรียกได้ เพราะทรงเป็นพระอาจารย์

ทรงสอนวิชาสามัญทั่วไป ทรงสอนวิชาสาธารณสุขความรู้ในเรื่องการปฏิบัติตนการอยู่ดีกินดี แต่งานหลักหรือหน้าที่หลักของพระองค์ในตอนนั้น จะทรงเน้นปลูกฝัง หยั่งรากของการผลิตแพทย์ไทยให้ได้มาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ ความรู้สติปัญญาของนิสิต ของเด็กไทยที่มีอยู่แล้วพร้อมรับได้เต็มที่ แต่ยังขาดอาจารย์ ขาดเครื่องไม้เครื่องมือ เครื่องทดลองในการสอน เพราะวิชาการแพทย์เป็นของใหม่สำหรับคนไทย ที่เรียกว่า วิชาแพทย์สมัยใหม่หรือหมอหลวง

ทูลกระหม่อมแดง ทรงรับภาระในเรื่องการติดต่ออาจารย์ฝรั่งจากต่างประเทศให้มาสอน ทรงหาเครื่องมือการแพทย์ ทรงติดต่อกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ในสหรัฐฯ มาสนับสนุน มูลนิธินี้ช่วยเราได้มากในตอนนั้น โดยเฉพาะการให้ทุนกับผู้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ

ทรงมีพระเมตตากับศิษย์มาก ไม่ทรงดุเลย แต่พวกเราเกรงใจท่านมาก ไม่ใช่กลัวเพราะพระองค์ทรงเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า ทรงวางพระองค์เงียบ ๆ แต่ไม่ถึงกับขรึม เรียกว่าทรงวางพระองค์เหมาะเจาะ เวลาเสด็จมามหาวิทยาลัยที่ตึกวังวินเซอร์ ทรงขับรถยนต์คันเล็ก ๆ ด้วยพระองค์เองมาจากวังสระปทุม พบลูกศิษย์หรือนิสิตเดินอยู่ จะทรงหยุดรถ เรียกขึ้นรถมากับพระองค์ บางครั้งมากันแน่รถเลยทีเดียว ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงพอพระทัย และมีความสุขพระทัยมากที่ได้ทำเช่นนี้ ลูกศิษย์ก็ปลื้มใจ มาคุยกันเชียวว่าวันนี้มารถยนต์ มีทูลกระหม่อมแดงเป็นคนขับ

พระองค์ทรงสง่างามมาก เรียกอย่างชาวบ้านก็คือ สมาร์ทรูปหล่อ เวลาพระดำเนิน พระวรกายตรง ทรงพระดำเนินค่อนข้างช้าพระองค์ ก็เป็นแบบสมัยนั้นคือชุดราชประแตน ทรงผ้าม่วงโจงกระเบน ผ้าม่วงสีม่วงที่เรียกว่าแพรเชี่ยงไฮ้นั่นแหละ เสื้อราชประแตนขาวกระดุมห้าเม็ด …พระองค์เสด็จพระองค์เดียวไม่มีผู้ติดตาม ในมหาวิทยาลัยคือที่วังวินเซอร์นั้น พระองค์ทรงปฏิบัติเหมือนอาจารย์ทุกคน เวลาเสด็จพระดำเนินไปทางไหน นิสิตจะหยุดถวายคำนับ

ผมจำได้แม่นว่า มีครั้งหนึ่งเกือบจะวิ่งชนพระองค์ท่านตอนเรียนเตรียมแพทย์ ซึ่งทุกคนก็ยังเป็นเด็ก ๆ อยู่ ยังเล่นซนกันเวลาว่างเรียน …มีวันหนึ่งเราเล่นซ่อนหากัน ผมกำลังวิ่งไปหาที่ซ่อนในตึกวินเซอร์นั่นแหละ พอมาถึงหัวมุมที่บันไดวน วิ่งพรวดไปเกือบจะชนพระองค์ที่กำลังพระดำเนินสวนลงมาผมตกใจชะงัก รู้สึกกลัว …พระองค์ทรงยิ้ม ไม่ว่ากระไร นอกจากทรงเตือนว่า ‘อย่าซนนัก ระวังจะหกล้ม’ รู้สึกว่าพระองค์ทรงห่วง และมีพระเมตตากับพวกเรามาก

อย่างที่ได้บอกแล้วว่า ความสนิทสนมกันระหว่างอาจารย์กับศิษย์นั้นมีมาก สิ่งใดที่เป็นเรื่องของอาจารย์ที่ศิษย์จะแสดงความกตัญญูรู้คุณได้ก็ทำ เช่นครั้งหนึ่ง เสด็จกลับจากต่างประเทศเป็นการเสด็จทางเรือ สมัยนั้น เรือเดินสมุทร เป็นพาหนะสำคัญที่สุดพวกเรานิสิตแพทย์ไปรับเสด็จที่ท่าเรือวัดพระยาไกร เรือเล็กที่ถ่ายจากเรือใหญ่มาเทียบที่นั่น พระองค์เสด็จมาพร้อมกันหมดทุกพระองค์ ทั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชธิดา พระราชโอรสซึ่งทรงพระเยาว์ พวกเราขึ้นไปรับเสด็จบนเรือ ดีใจที่พระองค์เสด็จกลับมา….เวลาเสด็จลงจากเรือขึ้นฝั่ง มีสะพานทอดระหว่างกราบเรือกับท่า พวกเราไปจูงพระราชโอรสสองพระองค์ พวกเราช่วยกันจูงประคอง กลัวจะตกน้ำ จะพลัดจากสะพานไม้เล็กๆ เป็นห่วงเพราะเป็นลูกของอาจารย์ เวลานี้ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9″

(จากบทสัมภาษณ์ ร.อ. น.พ.เกรียงไกร หอมเศรษฐี)

ระลึกพระคุณองค์ผู้เกื้อหนุนจุฬาฯ 24 กันยายน วันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบรมราชอัยกาในรัชกาลปัจจุบันอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย และอาจารย์วิชากายวิภาคศาสตร์ และวิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผู้ทรงสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ

#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall