107 ปีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
8 ธันวาคม 2456 – 2563
“ในที่นี้จะต้องเล่าเรื่องหนึ่ง ซึ่งคนภายหลังไม่ค่อยทราบ คือในสมัยนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้กับข้าพเจ้าเปนพี่น้องที่สนิทกันมาก ข้าพเจ้ามีความคิดเห็นอย่างไร ก็ได้ทูลให้ทรงทราบ ท่านก็ทรงสนับสนุนและได้ช่วยกันประสานงานทางสภากาชาดกับโรงเรียนราชแพทยาลัย และโรงพยาบาลศิริราชให้สอดคล้องและส่งเสริมกิจการทั้งสองฝ่ายให้เข้ารูปเข้ารอยกัน…
เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าไปจัดการศึกษาวิชชาแพทย์ และวิชชาผดุงครรภ์และพยาบาลได้สักหน่อย สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ ก็ทรงแสดงพระดำริห์มาว่า ตามกรมกองทหารบกมีแพทย์ประจำหน่วยพยาบาลอยู่แล้ว และยังจะได้เพิ่มเติมไปอีกเรื่อยๆ แต่ทางเภสัชกรรมนั้นยังไม่มีผู้ที่ได้เรียนและได้รับการอบรมไปประจำตามที่จำหน่ายยาเลย ควรจะตั้งโรงเรียนแพทย์ปรุงยาขึ้นอีกแขนงหนึ่ง ข้าพเจ้าเห็นด้วยจึงได้จัดตั้งโรงเรียนปรุงยาขึ้น สอนวิชชารากฐานร่วมกันไปกับนักเรียนแพทย์ แล้วไปแยกกัน ทางฝ่ายแพทย์ปรุงยาก็ไปเรียนเภสัชศาสตร และฝึกหัดในทางเภสัชกรรม…”
จากพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ในสารศิริราช ฉบับพิเศษ พฤษภาคม 2493 ได้บอกเล่าที่มาของการเริ่มต้นวิชาทางเภสัชกรรมสมัยใหม่ในสยาม “แผนกแพทย์ผสมยา” ในโรงเรียนราชแพทยาลัย ได้ก่อตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2456 ซึ่งถือว่าเป็นวันสถาปนาคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นวันสถาปนาวิชาชีพเภสัชกรรมในประเทศไทยอีกด้วย การดำเนินงานในระยะแรกนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ทรงจัดหลักสูตรแพทย์ผสมยา จำนวน 2 หลักสูตร ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ พ.ศ. 2457 – 2463 นับเป็นรากฐานอันสำคัญยิ่งของการศึกษาวิชาเภสัชกรรม
ต่อมา 26 มีนาคม 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชแพทยาลัยมาเป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัย แผนกปรุงยาจึงได้มาสังกัดในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงปีพุทธศักราช 2477 เภสัชกร ร้อยเอก หวาน หล่อพินิจ ได้เสนอให้ใช้คำว่า “เภสัชกรรม” แทนคำว่า “ปรุงยา” จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นแผนกเภสัชกรรม และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ ตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2477
ระหว่างปีพุทธศักราช 2476 – 2478 ความนิยมการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ลดน้อยลง เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายรองรับวิชาชีพเภสัชกรรมอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน แม้ว่าจะมีการปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตร์ หากแต่ไม่สามารถดำเนินงานถึงชั้นปริญญาได้ ปัญหาประการหนึ่งคือไม่มีอาคารทำการเพียงพอ และไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ต่อมา การเกิดขึ้นของกองเภสัชกรรม การตราพระราชบัญญัติควบคุมการขายยา พ.ศ. 2479 และโครงการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมผลิตยา จึงทำให้มีความต้องการผลิตบุคลากรด้านเภสัชศาสตร์ขึ้นอีกครั้ง
ดร.ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนทุนสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้สำเร็จวิชาเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมิวนิก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นรัฐมนตรี และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ในขณะนั้น ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม อธิการบดีในขณะนั้น ได้แต่งตั้ง ดร. ตั้ว ลพานุกรม ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จึงได้รับการสนับสนุนและสามารถจัดการศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งจัดสร้างอาคารเรียนของแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ขึ้นเป็นครั้งแรก (ปัจจุบัน คืออาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์)
พุทธศักราช 2488 ได้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น แผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ย้ายไปจัดตั้งเป็นคณะเภสัชกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ต่อมา วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2512 ได้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” จนกระทั่งถึงปีพุทธศักราช 2515 โดยคำสั่งคณะปฏิวัติ ลงวันที่ 13 เมษายน 2515 ให้คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามเดิม จึงเป็น “คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ร่วมพัฒนาการดูแลการใช้ยาของประชาชนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาในประเทศให้มีศักยภาพและนวัตกรรม เปิดสอนระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาวิชาซึ่งสังกัดภาควิชาต่าง ๆ อาทิ ภาควิชาเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม อาหารและเภสัชเคมี เภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ เภสัชวิทยาและสรีรวิทยา ฯลฯ รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ Pharmaceutical Technology และ Social and Administrative Pharmacy ในระดับบัณฑิตศึกษา
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall