เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ระหว่างพุทธศักราช 2436 – 2445 ได้ทรงเข้าร่วม และได้ทอดพระเนตรพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีการของอังกฤษอยู่เสมอๆ งานสำคัญครั้งหนึ่งที่ทรงเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือพระราชพิธีปลงพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เมื่อพุทธศักราช 2444 ในครั้งนั้น ได้เชิญพระบรมศพประดิษฐานบนรถปืนใหญ่ บนหีบพระบรมศพประดิษฐานพระมหามงกุฎ พระคทา ตามรูปแบบของการจัดงานพระบรมศพ พระศพ หรือศพบุคคลสำคัญของอังกฤษที่เป็นการจัดอย่างรัฐพิธี (State funeral) การเชิญศพเช่นนี้ สันนิษฐานว่าเดิมริเริ่มใช้กับแม่ทัพหรือนายทหารเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเกียรติยศในสมรภูมิ ต่อมาได้ใช้งานเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระประมุขของประเทศในฐานะจอมทัพ จนถึงบุคคลสำคัญของชาติที่ได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริให้ใช้รถปืนใหญ่ตามลักษณะนี้ ในการพระศพ จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เมื่อพุทธศักราช 2459 เป็นคราวแรก หากแต่ยังมิได้จัดองค์ประกอบเช่นเดียวกันกับตะวันตก ถึงพุทธศักราช 2463 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงออกแบบราชรถปืนใหญ่ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ จอมพล สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ โดยมีองค์ประกอบต่างๆ เพิ่มเติมให้สอดคล้องกับคติของตะวันตก และเข้ากับรูปแบบโบราณราชประเพณีของไทย ได้แก่ ด้านหน้าเกรินทอดพระมาลา ด้านหลังทอดพระคทา มีผู้ถือธงประจำพระอิสริยยศนั่งที่ด้านหน้า ราชรถปืนใหญ่ที่ทรงพระราชดำริ และออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์นี้ ได้ใช้เป็นแบบในการจัดราชรถปืนใหญ่ ทรงพระบรมศพของพระองค์เองในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พุทธศักราช 2468 ตามพระบรมราชประสงค์ในพระราชพินัยกรรมที่ว่า “ไปพระเมรุขอให้จัดแต่งรถปืนใหญ่เป็นรถพระบรมศพ เพราะข้าพเจ้าเป็นทหาร อยากจะใคร่เดินทางในระยะที่สุดนี้อย่างทหาร”
ราชรถปืนใหญ่นี้ต่อมาได้เป็นแบบอย่างของการจัดราชรถปืนใหญ่ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อพุทธศักราช 2493 และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อพุทธศักราช 2560
แม้ว่าพระราชพิธีปลงพระบรมศพเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันเสาร์ที่ 17 เมษายน 2564 จะมิได้เชิญพระบรมศพบนรถปืนใหญ่ แต่ใช้รถยนต์แลนด์โรเวอร์ เชิญพระบรมศพตามพระราชประสงค์ของดยุก แต่ร่องรอยของประเพณีอังกฤษในการเชิญศพของผู้เป็นทหาร ยังคงปรากฎด้วยพระมาลา พระแสงกระบี่ และธงประจำพระอิสริยยศที่ประดิษฐานไว้บนหีบพระบรมศพครบตามประเพณี
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall