เมื่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสถาปนาขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2459 ในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยซึ่งทรงเป็นนักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ด้วยพระองค์หนึ่ง ทรงเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ในดุสิตธานีที่ชื่อ “ดุสิตสมิต” ทั้งทรงแสดงพระราชทัศนะในฐานะราษฎรผู้หนึ่งเป็นบทความส่งไปลงในหนังสือพิมพ์ พระราชนิยมนี้ส่งผลให้สื่อสารมวลชนประเภทสิ่งพิมพ์ ซึ่งเข้าถึงง่ายในเวลานั้นเป็นที่นิยมโดยทั่วไป พุทธศักราช 2464 พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ขณะดำรงตำแหน่งพระยาราชดรุณรักษ์ อธิการของหอวัง ซึ่งเป็นหอพักของนิสิต จึงริเริ่มการจัดทำหนังสือพิมพ์ภายในขึ้นครั้งแรก โดยให้นิสิตส่งบทความมารวมกัน และอ่านในการประชุมตอนค่ำ ต่อมาเปลี่ยนการจัดทำเป็นหนังสือพิมพ์ภาพล้อด้วยฝีมือของ นพ.สมิชฌย์ พุกกะเวช ถึงพุทธศักราช 2466 พระยาปรีชานุสาสน์ ร่วมกับสมิชฌย์ และประวัติ ตัณฑ์สุรัตน์ จึงจัดทำหนังสือพิมพ์ของนิสิตให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมีประวัติ ตัณฑ์สุรัตน์ เป็นบรรณาธิการคนแรก และได้ชื่อจากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการว่า “มหาวิทยาลัย” ออกเผยแพร่ฉบับแรกเมื่อ 23 ตุลาคม 2466
“มหาวิทยาลัย” ของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยบรรณาธิการ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสาราณียกร ยังคงดำเนินงานต่อมายาวนานจนถึงปัจจุบัน ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน เขียนบทความ บทประพันธ์ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง รวบรวมเนื้อหาทั้งข่าวสารในมหาวิทยาลัย เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับจุฬาฯ ความรู้ต่างๆ จนถึงสังคมทั่วไป และโลกด้วย ในช่วงพุทธศักราช 2490 ถึง 2507 นั้น “มหาวิทยาลัย” มี “นักเขียน” พระองค์หนึ่ง นั่นคือการได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชหัตถเลขามาลงพิมพ์ในหนังสือด้วย
ความผูกพันของชาวจุฬาฯ กับพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่การโดยเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช มายังมหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อพุทธศักราช 2489 ตลอดระยะเวลาก่อนการเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อ บรรดานิสิต และคณาจารย์จุฬาฯ หมุนเวียนกันไปเฝ้าพระบรมศพรัชกาลที่ 8 พร้อมทั้งเฝ้าถวายกำลังใจแด่สมเด็จพระอนุชาธิราช ผู้ทรงรับราชสมบัติสืบต่อมา จนแม้ในวันที่เสด็จพระราชดำเนินจากสยาม ก็พร้อมใจกันไปส่งเสด็จฯ ดังที่ได้ทรงบันทึกไว้ในพระราชนิพนธ์ “เมื่อข้าพเจ้าจากสยามสู่สวิสเซอร์แลนด์” ตอนหนึ่งว่า “เมื่อมาถึงดอนเมือง เห็นนิสิตมหาวิทยาลัยผู้จงใจมาเพื่อส่งเราให้ถึงที่ ได้รับของที่ระลึกเป็นรูปเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย”
พระราชหัตถเลขาฉบับแรกนั้น ลงพิมพ์ใน “มหาวิทยาลัย” ฉบับต้อนรับนิสิตใหม่ พุทธศักราช 2490 ปีต่อมาได้พระราชทานภาพลายเส้นฝีพระหัตถ์เป็๋นบัตรอวยพรพระราชทานแก่นิสิต บางปีเป็นพระราชหัตถเลขาพระราชทานพรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาด้วย พระราชหัตถเลขาทั้งหมดที่ได้ลงพิมพ์ใน “มหาวิทยาลัย” นี้เท่าที่ค้นพบได้มีอยู่ 15 องค์ ในช่วงพุทธศักราช 2490 – 2507 มีเนื้อหาโดยส่วนมากเป็นข้อเตือนใจให้นิสิตขวนขวายหาวิชาความรู้ กอปรทั้งคุณธรรม ระเบียนแบบแผน ความสามัคคี มีความประพฤติดี ประพฤติชอบ ความตรงต่อเวลา รู้จักแบ่งเวลาเล่าเรียนและเวลาเล่น เพื่อว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จักได้เป็นกำลังสำาคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป
“ในยามที่สถานการณ์ของโลกกำลังปั่นป่วนเช่นเวลานี้ บ้านเมืองย่อมตั้งความหวังในบรรดาผู้ซึ่งกอรปด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังความคิดเข้มแข็ง ในอันจะร่วมมือร่วมใจช่วยนำประเทศชาติให้พ้นภัยไปสู่ความเจริญสถาพร เนื่องด้วยนิสสิตมหาวิทยาลัยทั้งหลายเป็นผู้ได้มีโอกาสศึกษาวิชาชั้นสูง ทั้งอยู่ในวัยซึ่งร่างกายกำาลังเติบโตสมบูรณ์ จึงควรสำนึกให้ตระหนักว่าตนเองอยู่ในชั้นผู้นำาของชาติ ผู้ซึ่งกำอนาคตไว้ในมือ แล้วฝึกและบำเพ็ญตนให้สมกับหน้าที่รับผิดชอบอันมีเกียรตินี้
กำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด เมื่อไม่เจริญขึ้นก็เสื่อมลง จะคงที่นั้นน้อยนัก เพราะฉะนั้นเพื่อจะไม่ถอยหลัง จึงต้องพยายามก้าวหน้าอยู่เสมอ.”
(ความตอนหนึ่งจากพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 9 ลงพิมพ์ในหนังสือ “มหาวิทยาลัย” พุทธศักราช 2494)
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall