ธรรมสถาน

Chula Dharma Center

ธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ริเริ่มและจัดตั้งครั้งแรกโดยฝ่ายบริหารจุฬาฯ เพื่อให้มีหน่วยงานที่เป็นรูปธรรมในภารกิจทำนุบำรุงด้านศาสนา ตลอดจนมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กิจกรรมทางศาสนาของมหาวิทยาลัย (ไม่จำกัดศาสนา) เป็นแหล่งจรรโลงจิตใจ ส่งเสริมและผดุงไว้ซึ่งการศึกษา และการปฏิบัติทางศาสนธรรม ชี้นำแนวทางชีวิตที่สงบ สร้างคุณค่าและคุณภาพในชีวิต ตลอดจนเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและประเพณี ซึ่งทั้งหมดนี้จะตอบสนองปณิธานในอันจะเสริมสร้างให้ชาวจุฬาฯ เป็นผู้สมบูรณ์พร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม  

โดยได้เริ่มวางแผนกำหนดพื้นที่และก่อสร้าง “อาคารธรรมสถาน” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา และสร้างอาคารสำเร็จเมื่อปี พ.ศ. 2522 จากนั้นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดแรกเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2522 และได้เริ่มจัดกิจกรรมครั้งแรกด้วยการจัดอภิปรายเรื่อง “ศาสนาคือทางเลือกสุดท้ายของมนุษย์” เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2522 

วันที่ 3 สิงหาคม 2523  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จมาทรงเปิดอาคารเพื่อเริ่มกิจการธรรมสถานอย่างเป็นทางการ

ตัวอาคารธรรมสถานก่อสร้างด้วยงบประมาณจากเงินทุนซึ่ง ฯพณฯ ศรีสุภาส จันทรโบส ได้บริจาคไว้เมื่อ พ.ศ. 2488 โดยมีวัตถุประสงค์ให้จุฬาฯ นำไปก่อสร้างถาวรวัตถุเพื่อเป็นที่ระลึกในสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศไทยกับอินเดีย สมทบกับเงินผลประโยชน์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้น ตัวอาคารธรรมสถานจึงเป็นประดุจอนุสาวรีย์ แต่เป็นอนุสาวรีย์ที่มีชีวิต ที่ภายในสามารถเคลื่อนไหวและร่วมสร้างสรรค์คุณค่าความดีงามแก่สังคมได้

ปาถกฐาธรรมและเวียนเทียน เนื่องในโอกาสวันวิสาขบูชา ณ อาคารธรรมสถาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปัจจุบัน ธรรมสถานดำเนินงานเพื่อส่งเสริมประเพณีอันดีงามของทุกศาสนา และเผยแพร่องค์ความรู้แก่นิสิต ประชาคมจุฬาฯ และสังคม ผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้

  • กิจกรรมห้องสมุด ให้บริการวิชาการ และยืมหนังสือ
  • กิจกรรมบรรยายธรรม วันอาทิตย์-วันศุกร์
  • กิจกรรมวันสำคัญทางศาสนาและประเพณี
  • กิจกรรมธรรมทัศนาจร ปีละ 2 ครั้ง
  • กิจกรรมด้านสื่อและสิ่งพิมพ์ หนังสือ นิทรรศการ วารสารธรรม
  • กิจกรรมพัฒนาบุคลากร