พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย

Chula Museum

“พิพิธภัณฑ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และเฉลิมฉลองในวาระแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 100 ปี โดยให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูล สิ่งของจัดแสดงที่นำเสนอให้เห็นภาพรวมของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ ซึ่งจะสะท้อนถึงความเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับโลกและเป็นปัญญาแห่งแผ่นดิน มุ่งหวังให้ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายได้เห็นภาพรวมของมหาวิทยาลัย ได้รับรู้ เข้าใจ เกิดการยอมรับและมีความภาคภูมิใจในความเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ตลอดจนเกิดความตระหนักว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของไทย ที่ก่อตั้งขึ้นมาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ และศาสตร์แขนงต่างๆ เป็นแหล่งรวมของคณาจารย์ นักวิชาการ และนิสิตที่มีคุณภาพ มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับในระดับโลก อีกทั้งยังเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้า และความเป็นเลิศในด้านต่างๆ เพื่อเป็นผู้นำทางวิทยาการขั้นสูงของประเทศให้สมกับวิสัยทัศน์ ที่ว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสาหลักของแผ่นดิน” (Pillar of The Kingdom)

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นพิพิธภัณฑ์ในสถานศึกษาแห่งใหม่ล่าสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแหล่งรวบรวมและนำเสนอสาระเกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในภาพรวม เป็นสถานที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานด้านต่างๆของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้สัมผัสและเรียนรู้ในภาพรวมของมหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีพัฒนาการ มีองค์ความรู้และการบูรณาการด้านต่างๆ ตลอดระยะเวลา 100 ปี ของการก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านสื่อต่างๆ ที่ใช้รูปแบบการนำเสนอในลักษณะ Modern and Narrative Museum อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมและนิทรรศการหมุนเวียนต่างๆ สำหรับนิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัย ร่วมกับพื้นที่ในบริเวณลานศิลปวัฒนธรรม ให้เกิดขึ้นในบริเวณมหาวิทยาลัย ร่วมกับพื้นที่ในบริเวณลานศิลปวัฒนธรรมและอาคารศิลปวัฒนธรรม ที่ตั้งอยู่บริเวณลานศิลปวัฒนธรรมและอาคารศิลปวัฒนธรรม ที่ตั้งอยู่บริเวณถัดออกไป ตลอดจนเป็นแหล่งรองรับนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคตอีกด้วย


วัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

  1. เพื่อเป็นอนุสรณ์และเฉลิมฉลองในวาระการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 100 ปี
  2. ให้เป็นสถานที่รวมรวบข้อมูล / สิ่งของจัดแสดงที่นำเสนอให้เห็นภาพรวม ของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ
  3. เป็นแหล่งเรียนรู้ที่นำเสนอ ในลักษณะ Modern Museum เพื่อสะท้อนภาพความเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีพัฒนาการ และสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 100 ปีของจุฬาฯ และเพื่อรองรับนโยบายการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต
นิทรรศการ “First Draft แรกร่างเพื่อสร้างสรรค์” และนิทรรศการ “36 ปี 36 ศิลปินคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ” ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น 1 อาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย

ชั้นที่ 1 “ส่วนจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและผลงานศิลปะ”

เป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการหมุนเวียนของพิพิธภัณฑ์ จัดกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม และจัดแสดงผลงานศิลปะของนิสิตและบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย


ชั้นที่ 2 “ศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย”

นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความโดดเด่นในเชิงศาสตร์และองค์ความรู้ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย โดยนำเสนอในภาพรวมให้เห็นถึงองค์ความรู้จุฬาฯ ที่มีลักษณะเฉพาะ มีความพิเศษและแตกต่างจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ เป็นส่วนจัดแสดงที่ต้องการให้ผู้เยี่ยมชมได้รับรู้ และเข้าใจลักษณะความโดดเด่นในเชิงศาสตร์ และความแข็งแกร่งทางวิชาการแขนงต่างๆ ของมหาวิทยาลัย ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ หรือกระตุ้นให้เกิดความสนใจ และความต้องการเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ความรู้แขนงต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งจะใช้แนวทางการจัดแสดงเนื้อหาพิพิธภัณฑ์ฯ ที่จะทำให้ห้องจัดแสดงนี้ กลายเป็น Gateway นำเสนอความเป็นศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในภาพรวมอย่างครบถ้วน รอบด้าน และสามารถเชื่อมโยงความสนใจให้ผู้เข้าเยี่ยมชมไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมที่คณะ/สถาบันเจ้าของศาสตร์นั้นๆ โดยตรงต่อไป

รูปแบบการจัดแสดงเนื้อหาในส่วนนี้ เน้นการมีส่วนร่วมของผู้เข้าชม (Interactive Exhibition) มีแนวคิดในการนำเสนอโดยใช้แก่นเรื่องราว ผสมผสานกับวัตถุสิ่งของจัดแสดง เน้นการสื่อความหมายข้อมูล และเนื้อหาจัดแสดงที่สามารถสร้างการรับรู้ให้แก่ผู้ชมกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ (ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ) มีการใช้เทคนิค และวิธีการนำเสนอด้วยสื่อผสมที่หลากหลาย


ขั้นที่ 3 “อุทยานจามจุรี”

นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการด้านกายภาพของมหาวิทยาลัยในช่วงระยะเวลา 90 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ภายในห้องจัดแสดง นำเสนอข้อมูลพร้อมภาพประกอบให้เห็นพัฒนาการและเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านกายภาพ ซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย โดยแบ่งช่วงเวลาการนำเสนอเป็นทศวรรษ รวมทั้งสิ้น 9 ทศวรรษ มีการนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านกายภาพของมหาวิทยาลัยในรูปแบบของสารคดีสั้นผ่านสื่อมัลติมีเดีย และแบบจำลองอาคารสถาปัตยกรรมสำคัญต่างๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ห้องนิทรรศการ 100 เรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาฯ”

ขั้นที่ 4 “100 เรื่องจามจุรี 100 ปีจุฬาฯ”

นำเสนอเรื่องราวพร้อมภาพประกอบให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างพัฒนาการของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ กับพัฒนาการด้านต่างๆ ของสังคมไทย ทั้งในมุมของความสัมพันธ์ในลักษณะเกื้อหนุนและชักนำต่อกัน เน้นการนำเสนอเนื้อหาในเชิงบูรณาการระหว่างกันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับสังคมใน 2 แง่มุม กล่าวคือ ในด้านบทบาทของการเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทย ที่เป็นผู้ริเริ่มสร้างเพาะบ่มและพัฒนาองค์ความรู้ ทางวิชาการด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมในยุคสมัยและในมุมกลับกัน คือ สะท้อนบทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเป็นผู้ชักนำและสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไทย ซึ่งทำให้สังคมได้นำสิ่งเหล่านั้นไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในระดับชาติ ตลอดจนนำไปสร้างคุณประโยชน์อื่นๆ แก่สังคมโลกต่อไป


พิพิธภัณฑ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้ผู้สนใจเยี่ยมชมฟรี ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9:00 – 16:30 น. นอกจากนี้บริเวณด้านข้างอาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย ยังมีพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งที่เรียกว่า “ลานศิลปวัฒนธรรม” ใช้สำหรับจัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์ ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่ “อาคารศิลปวัฒนธรรม” ที่อยู่ถัดออกไปทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งมีการจัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม และการจัดแสดงผลงานศิลปะที่น่าสนใจสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอดทั้งปีอีกด้วย

“Museum Shop” ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึก ณ อาคารพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย