เรือนไทยจุฬาฯ

Reun Thai (Chula Thai House)

หมู่เรือนไทยประกอบด้วยเรือน 5 หลัง
ซึ่งใช้ประโยชน์ในกิจกรรมที่แตกต่างกัน ดังนี้

เรือนที่ 1

เรือนที่ 1

เรือนประธานหรือเรือนเอก ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในคราวเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีขึ้นเรือนไทยและประดิษฐานศีรษะครูเทพเจ้าทางดนตรีไทย รวมทั้งจัดแสดงเครื่องดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ 2 ชุด ชุดแรกเป็นไม้ขนุนประกอบไม้มะเกลือ และระนาดทรงของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำด้วยไม้มะริดประกอบงา เครื่องดนตรีปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์นี้ สร้างขึ้นเพื่อจัดบรรเลงร่วมเฉลิมฉลองในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปีพุทธศักราช 2530 ชุดที่ 2 เป็นเครื่องไม้ชิงชันประกอบไม้มะเกลือ ที่จัดขึ้นใหม่ในปีพุทธศักราช 2553 วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีที่มีเสียงทุ้มไพเราะชวนฟัง โดยเฉพาะฆ้องหุ่ย 7 ลูก ซึ่งจะเพิ่มความกังวานของเสียงดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของวงดนตรีไทยปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

เรือนที่ 2

เรือนที่ 2

จัดแสดงเครื่องและวัตถุโบราณ ที่ ดร.วินิจ วินิจนัยภาค รองเลขาธิการพระราชวัง และคุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค บริจาคให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ เครื่องแก้วเจียระไน เครื่องเงิน เครื่องกระเบื้อง เครื่องถม เครื่องราชอิสริยาภรณ์ในตระกูลต่างๆ ผ้าไทยโบราณ พระพุทธรูปบูชา ของมีค่าอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง

เรือนที่ 3

จัดแสดงเครื่องจักสานของรองศาสตราจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร ผู้สนใจในงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ลดา รัตกสิกร ภริยาได้มอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วยเครื่องจักสาน จากวัสดุธรรมชาติท้องถิ่นต่างๆ ของประเทศไทย โดยนำมาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือใช้สอยชีวิตประจำวันในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสวยงามในเชิงศิลปะจากลวดลาย วิธีการจักสานและความประณีตในการประดิษฐ์ อาทิ หมวกแบบต่างๆ ตะกร้า กระจาด กระติบใสข้าวเหนียว สุ่มจับปลา เป็นต้น

เรือนที่ 4

เรือนที่ 4

เป็นศาลากลางน้ำเอนกประสงค์ออกแบบสถาปัตกรรมไทยที่เรียกว่า ทรงเครื่องลำยอง สถาปัตยกรรมลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ภายใต้ขอบเขตของรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นสัดส่วนหรือลวดลายโดยไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบจากครูเดิม หน้าบันประดิษฐานพระเกี้ยวอันเป็นสัญลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คันทวยของศาลาแกะเป็นรูปเทพพนมชายหญิง อันเป็นเครื่องหมายแทนชาวจุฬาฯ ทั้งปวง ที่น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ตั้งแต่แรกสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาลากลางน้ำหลังนี้ ออกแบบเป็นศาลาโถง เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ เช่น การบรรเลงดนตรีไทย การจัดงานทำบุญเลี้ยงพระ การจัดเลี้ยงอาหาร และงานอื่นๆ เป็นต้น

เรือนที่ 5

เรือนที่ 5

เรือนสำนักงาน เป็นอาคารที่จัดไว้เป็นที่รับรองอาคันตุกะของมหาวิทยาลัย และเป็นสำนักงาน สำหรับติดต่อ ประสานงาน และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในเรือนไทย


นับเป็นความภูมิใจอย่างยิ่งสำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มีหมู่อาคารเรือนไทยที่งดงามเป็นแหล่งข้อมูลทางดนตรีไทยในรูปแบบต่างๆ เป็นแหล่งจัดกิจกรรมการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะดนตรีและนาฏยศิลป์ที่เกี่ยวข้อง และยังเป็นการสืบทอดงานสถาปัตยกรรมไทย ไว้ให้นิสิตนักศึกษาต่อไป รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศทางวัฒนธรรมในชุมชนมหาวิทยาลัยอีกด้วย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะส่งเสริมสร้างบรรยากาศทางวัฒนธรรมไทยร่วมกับชุมชนโดยรอบจึงกำหนดให้มีกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในแง่ที่มีส่วนซึบซาบเข้าไปในวิถีดำรงชีวิตของสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนของชาติที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ด้วยเหตุผลดังกล่าวประกอบกับความคิดที่จะสร้างสรรค์ถาวรวัตถุเป็นการเฉลิมฉลอง เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกรวมทั้งในโอกาสครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการประชุมครั้งที่ 455 จึงได้อนุมัติให้จัดสร้างเรือนไทยแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น เพื่อสนองวัตถุประสงค์ดังกล่าว อนึ่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ลดา รัตกสิกร ได้มอบทุนทรัพย์จำนวน 2 ล้านบาท เป็นทุนส่วนหนึ่งในการสร้างเรือนไทยเพื่อเป็นที่ระลึกแก่รองศาสตราจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร ในฐานะที่ได้เคยสือบทอดวิชาการทางด้านศิลปกรรมไทยอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมกับมอบงานศิลปกรรมพื้นบ้านที่รองศาสตราจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร ได้รวบรวมไว้จัดแสดงในเรือนดังกล่าว

นอกจากนี้มหาวิทยาลัยได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมในการสร้าง 3.5 ล้านบาท และปรับปรุงภูมิทัศน์อีก 1.2 ล้านบาท รวมค่าก่อสร้างเรือนไทยทั้งสิ้น 6.7 ล้านบาท โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ภิญโญ สุวรรณคีรี อาจารย์เผ่า สุวรรณศักดิ์ศรี เป็นสถาปนิก อาจารย์กี ขนิษฐานันท์ อาจารย์ ดร.ดนัย ทายตะคุ เป็นภูมิสถาปนิก และเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2530 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธียกเสาเอก และหลังจากก่อสร้างเสร็จเรียบร้อย ในวันที่ 25 มีนาคม 2531 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีสวดมนต์ขึ้นเรือนไทยและทรงดนตรีเฉลิมฉลองเพื่อเป็นสิริมงคลอีกวาระหนึ่ง