๒๑
คณาจารย์ชาวต่างประเทศรุ่นแรก
ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มมีชาวต่างประเทศเข้ามารับราชการ และหลังจากที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ (The Rockefeller Foundation) ได้สนับสนุนการพัฒนาคณะแพทยศาสตร์แล้วก็ได้ให้การสนับสนุนทางด้านอาจารย์ผู้สอนด้วย ในบรรดาชาวต่างประเทศเหล่านี้ผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง คือ ศาสตราจารย์ ดร.เอ.จี.เอลลิส ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพยาธิวิทยา ท่านผู้นี้มีความสามารถทั้งทางด้านวิชาการและการบริหาร ท่านจึงได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ หลายตำแหน่งในมหาวิทยาลัย เช่น คณบดีคณะแพทยศาสตร์ และอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย(ระหว่าง พ.ศ.๒๔๗๘ – ๒๔๗๙) ซึ่งเป็นชาวต่างประเทศท่านเดียวที่ดำรงตำแหน่งอธิการบดี และเนื่องจากท่านมีคุณูปการต่อวงการแพทย์ไทยอย่างมาก ใน พ.ศ.๒๔๗๓ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านการแพทย์ให้ท่านเป็นคนแรก
ต่อมาได้มีอาจารย์ชาวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ดังเช่นในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีอาจารย์ชาวต่างประเทศสองท่านซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำสัญญาว่าจ้างมีกำหนดระยะเวลา ๕ ปี ให้มาดำเนินการสอนในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตามโครงการหลักสูตรปริญญาวิศวกรรมศาสตร์สามสาขาวิชา คือ วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมโยธา อาจารย์สองท่านนี้ คือ ศาสตราจารย์ฮันส์ บันตลิ (Professor Hans Bantle) ชาวสวิส ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกล และศาสตราจารย์ ดร.ชาร์ลส์ เอม.สัน. เกเวอร์ตซ์ (Professor Dr.Charles Ernfrid M.Son Gewertz) ชาวสวีเดน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้า