๑๐๐ เรื่องจามจุรี ๑๐๐ ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดอกผลจามจุรี
๑๐๐

ดอกผลจามจุรี

ปูชนียบุคคล

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

อาจารย์นารถ โพธิประสาท ได้รับทุนจากกระทรวงธรรมการไปศึกษาวิชาสถาปัตยกรรม ณ ประเทศอังกฤษ และได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ ๑ ด้านการก่อสร้างจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลเป็นผู้เริ่มวางหลักสูตรการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมในประเทศไทย โดยเริ่มครั้งแรกที่โรงเรียนเพาะช่าง หลังจากนั้นกระทรวงธรรมการได้โอนการสอนวิชาสถาปัตยกรรมไปเป็นแผนกวิชาสังกัด คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนสถานะเป็นแผนกอิสระและคณะตามลำดับ จึงนับได้ว่าอาจารย์นารถ โพธิประสาทเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมระดับปริญญาแห่งแรกของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ และเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมด้วย

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

รองศาสตราจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร จบการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลังจากนั้นได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และได้รับทุนก.พ.ไปศึกษาต่อระดับมหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลประเทศสหรัฐอเมริการ รวมทั้งได้มีโอกาสฝึกงานกับแฟรงค์ ลอยด์ไรท์ สถาปนิกอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ระยะหนึ่งด้วย นอกจากการเป็นสถาปนิกและอาจารย์แล้ว ยังเป็นศิลปินที่มีความสามารถหลายแขนง เป็นทั้งจิตรกรประติมากร และนักเขียน ผลงานเขียนที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่ง คือ “แสงอรุณ ๒” ซึ่งเป็น ๑ ในหนังสือ ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน

คณะสหเวชศาสตร์

ศาสตราจารย์นายแพทย์เชวง เดชะไกศยะ เป็นบุคคลสำคัญผู้วางรากฐานวิชาเทคนิคการแพทย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่เมื่อครั้งยังสังกัดคณะเทคนิคการแพทย์มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยได้ดำรงตำแหน่งรองคณบดีหัวหน้าภาควิชาคลินิคัลไมโครสโคปี และเป็นผู้ดูแลบริหารงานคณะเทคนิคการแพทย์ส่วนที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งต่อมาได้โอนมาเป็นภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตรในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและปรับเปลี่ยนเป็นภาค วิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จวบจนแยกออกมาเป็นคณะคือ คณะสหเวชศาสตร์ตามลำดับ ซึ่งนับว่าเป็นคณะสหเวชศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย

คณะสหเวชศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยพร ณ นคร เป็นคณบดีคนแรกของคณะสหเวชศาสตร์ เริ่มรับราชการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๑ ในตำแหน่งอาจารย์ระดับ ๔ ภาควิชาเวชศาสตร์ชันสูตร ซึ่งขณะนั้นสังกัดคณะแพทยศาสตร์ จนกระทั่งในพ.ศ.๒๕๓๕ ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสหเวชศาสตร์ภายหลังจากที่ภาควิชาเทคนิคการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ได้เปลี่ยนสถานะมาเป็นคณะสหเวชศาสตร์โดยดำรงตำแหน่งคณบดีระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๕-๒๕๔๓

คณะวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ จบวิทยาศาสตรบัณฑิตสาขาเคมีมาตรฐานชั้นสูงจากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูลและศึกษาต่อขั้น Honours School จนได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ ๑ สาขาวิชาเคมี หลังจากนั้นได้รับทุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ประเทศสหรัฐอเมริกาจนจบปริญญาเอกเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ดำรงตำแหน่งบริหารที่สำคัญ คือคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย อธิการบดี และนายกสภามหาวิทยาลัยนอกจากนี้ยังได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถานด้วย

คณะวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.คลุ้ม วัชโรบล เคยศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จึงจบการศึกษาระดับปริญญาตรี-เอก จากมหาวิทยาลัยลอนดอน จากนั้นได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นผู้มีความรู้ทางด้านชีววิทยาอย่างดียิ่งคนหนึ่ง และเป็นผู้บุกเบิกการเขียนตำราเรียนทางด้านชีววิทยาในประเทศไทย ใน พ.ศ.๒๘๘๕ ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ นับว่าเป็นราชบัณฑิตในสำนักวิทยาศาสตร์รุ่นแรก รวมทั้งได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ.๒๕๑๐ ด้วย

คณะพยาบาลศาสตร์

รองศาสตราจารย์สมคิด รักษาสัตย์ จบการศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ารับราชการในตำแหน่งอาจารย์โทคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ.๒๕๑๑ และได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะพยาบาลศาสตร์เมื่อภาควิชาพยาบาลศึกษา คณะครุศาสตร์ ได้ยกฐานะขึ้นเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ใน พ.ศ.๒๕๓๑

คณะพยาบาลศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม โอทกานนท์ จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (พยาบาล) ครุศาสตรบัณฑิต (มัธยมศึกษา) วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การพยาบาล) และการศึกษาดุษฎีบัณฑิต (การวิจัยและพัฒนาหลักสูตร) เข้ารับราชการใน พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านพยาบาลศาสตร์ และมีผลงานด้านวิชาการมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการพยาบาลผู้สูงอายุ

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ศาสตราจารย์พระเจริญวิศวกรรม (เจริญ เชนะกุล) ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ แต่ด้วยสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๑ จึงย้ายไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๒ และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งคณบดีใน พ.ศ.๒๔๗๒ โดยเป็นคณบดีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด ได้รับยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ หรือครูใหญ่ของเหล่าช่างทั้งปวง ตลอดจนเป็นผู้วางรากฐานให้แก่วงการวิศวกรรมศาสตร์ของไทย รวมทั้งได้รับการยกย่องเป็นวิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่นครั้งที่ ๑

คณะวิศวกรรมศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.อรุณ สรเทศน์ จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสาขาวิศวกรรมสุขาภิบาลจากมหาวิทยาลัยเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ต่อมาได้ศึกษาต่อหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต และวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย เชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ดำรงตำแหน่งสำคัญในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และอธิการบดี รวมทั้งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย เป็นหนึ่งในวิศวกรที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ ประเทศชาติมากมาย จึงได้รับการยกย่องเป็นวิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น ครั้งที่ ๑

คณะสัตวแพทยศาสตร์

ศาสตราจารย์พันโทหลวงชัยอัศวรักษ์ (ไชย แสงชูโต) ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก รวมทั้งการศึกษาดูงานในประเทศอังกฤษ และได้รับปริญญาสัตวแพทยศาสตร์ มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการศึกษาด้านสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย คือ เป็นผู้ร่วมจัดตั้งแผนกอิสระสัตวแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาวิชาสัตวแพทยศาสตร์ระดับปริญญาในสถาบันการศึกษาของพลเรือนเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และต่อมาใน พ.ศ.๒๔๘๑ ได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะนิติศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.ประยูร กาญจนดุล จบการศึกษาเนติบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม และคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ อาทิ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สมาชิกวุฒิสภา และนายกราชบัณฑิตยสถาน รวมทั้งมีผลงานหนังสือ ตำรา และบทความทางวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมายปกครองและเศรษฐศาสตร์จำนวนมากนอกจากนี้ยังเป็นคณบดีคนแรกของคณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ.๒๕๑๕ ด้วย

คณะนิติศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน จบการศึกษาดุษฎีบัณฑิตทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัย ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๕-๒๕๒๑ นอกจากนี้ยังได้ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ อีกมาก อาทิ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานวุฒิสภาประธานรัฐสภา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่ออำนวยความยุติธรรมและเสริมสร้างสิทธิเสรีภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรรมการสภากาชาดไทย และ ประธานพีระยานุเคราะห์มูลนิธิในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

คณะอักษรศาสตร์

ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ ได้รับปริญญา B.A.Hons. ทางด้านประวัติศาสตร์ Diploma in Education และ M.A. จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้รับ Certificat d’Etudes Françaises จากมหาวิทยาลัยเกรอโนบล์ ประเทศฝรั่งเศสและได้รับปริญญาอักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับราชการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๘ จนเกษียณอายุราชการ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ อาทิ หัวหน้าแผนกวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ และเลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเคยรักษาการในตำแหน่งต่างๆ อีกหลายวาระ คือรักษาการแทนคณบดีคณะรัฐศาสตร์ คณบดีคณะครุศาสตร์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งรักษาการแทนอธิการบดีและคณบดีบัณฑิต วิทยาลัยด้วย

คณะอักษรศาสตร์

ศาสตราจารย์ มล.จิรายุ นพวงศ์ จบการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้ศึกษาต่อทางด้านภาษาบาลีและสันสกฤตที่ประเทศอังกฤษจนได้รับปริญญามหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ รวมทั้งได้รับปริญญามหาบัณฑิตทางด้านภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย นอกจากการเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านภาษาบาลีและสันสกฤตของคณะอักษรศาสตร์แล้ว ยังได้ดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ ทั้งทางด้านบริหารและวิชาการอีกหลายตำแหน่ง เช่น คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการประธานคณะกรรมการแผนกอักษรศาสตร์ มูลนิธิอานันทมหิดล อีกทั้งได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีด้วย

คณะเศรษฐศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.ประชุม โฉมฉาย เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงทั้งทางด้านรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ จบการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตและมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกวิชาการคลัง คณะรัฐศาสตร์ และมีส่วนสำคัญในการรวมแผนกวิชาการคลัง คณะรัฐศาสตร์และแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีเพื่อตั้งคณะเศรษฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นคณบดีคนแรกของคณะเศรษฐศาสตร์ใน พ.ศ.๒๕๑๓

คณะเศรษฐศาสตร์

ศาสตราจารย์ปัจจัย บุนนาค จบการศึกษาบัญชีบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อมาได้รับปริญญามหาบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์และประกาศนียบัตร ด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในแผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และเป็นกำลังสำคัญในการริเริ่มและจัดตั้งคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาโดยทั่วไปด้วย

คณะนิเทศศาสตร์

ศาสตราจารย์บำรุงสุข สีหอำไพ จบการศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต สาขาโสตทัศนศึกษา เป็นเสมือน “ครูผู้สร้าง” คณะนิเทศศาสตร์ เพราะเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนและเป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งแผนกอิสระสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาคือคณะนิเทศศาสตร์ รวมทั้งเป็นคณบดีคนแรกด้วย ตลอดชีวิตการทำงานได้อุทิศตนต่อการก่อสร้างรากฐานและพัฒนาคณะนิเทศศาสตร์ให้มีความมั่นคงจนเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและนานาประเทศ

คณะนิเทศศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ จบการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับปริญญามหาบัณฑิตทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปะการ แสดงจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และดุษฎีบัณฑิตสาขาศิลปะการแสดงจากมหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดงที่มีผลงานทั้งด้านวิชาการและบริหารมากมาย ผลงานและตำแหน่งสำคัญ อาทิ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์และคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชบัณฑิตสาขาวิชานาฏกรรม สำนักศิลปกรรมราชบัณฑิตยสถาน รวมทั้งได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาปรัชญาใน พ.ศ.๒๕๔๖ ด้วย

คณะทันตแพทยศาสตร์

ศาสตราจารย์ พันเอกหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงไปศึกษา วิชาแพทยศาสตร์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังที่สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยซีราคิวส์แล้ว ได้ศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์ต่อในมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย จนได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต เป็นผู้บุกเบิกวิชาชีพทันตกรรมและเริ่มจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ระดับปริญญาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวมทั้งได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกของคณะทันตแพทยศาสตร์ด้วย

คณะทันตแพทยศาสตร์

ศาสตราจารย์ พันโทสี สิริสิงห จบการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนพระราชทานจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และได้ร่วมกับศาสตราจารย์พันเอกหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ก่อตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ตลอดจนเป็นทันตแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย

คณะครุศาสตร์

ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา จบการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านจิตวิทยาการศึกษาที่มหาวิทยาลัย มิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ในคณะอักษรศาสตร์ เป็นผู้เห็นความสำคัญของการศึกษาด้านฝึกหัดครูระดับปริญญา จึงได้ก่อตั้งแผนกครุศาสตร์ขึ้นในคณะอักษรศาสตร์ และพัฒนาให้ก้าวหน้าจนยกระดับขึ้นเป็นคณะครุศาสตร์ใน พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรก และเป็นคณบดีหญิงคนแรกของประเทศไทยด้วยตลอดชีวิตการรับราชการ ได้ทุ่มเทกำลังกายและสติปัญญาอย่างเต็มที่เพื่อสร้างรากฐานอันมั่นคงให้กับการศึกษาของประเทศโดยรวม

คณะจิตวิทยา

ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา จบการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นแรกจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านจิตวิทยาการศึกษาที่มหาวิทยาลัย มิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งคณะครุศาสตร์ขึ้นและมีนโยบาย สำคัญประการหนึ่ง คือ การจัดทำหลักสูตรที่สนองความต้องการของประเทศรวมทั้งหลักสูตรจิตวิทยาด้วย โดยการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกสาขาวิชาจิตวิทยาการศึกษาขึ้น ในคณะครุศาสตร์ นับเป็นหลักสูตรจิตวิทยารุ่นแรกของประเทศไทย โดยเฉพาะหลักสูตรปริญญาเอกนั้นนับว่าเป็นหลักสูตรระดับปริญญาเอกหลักสูตรแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

คณะรัฐศาสตร์

ศาสตราจารย์เกษม อุทยานิน เริ่มรับราชการในกระทรวงมหาดไทยและต่อมาย้ายมาเป็นอาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยดำรงดำรงตำแหน่งคณบดี คณะรัฐศาสตร์ ๒ วาระ รวมทั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วยเป็นบุคคลสำคัญที่วางรากฐานและพัฒนาคณะรัฐศาสตร์

คณะรัฐศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล จบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยม) รุ่นที่ ๑ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาได้รับปริญญามหาบัณฑิตทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์และปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางด้านการบริหารและปกครองจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ คณบดีคณะรัฐศาสตร์และอธิการบดีโดยได้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีถึง ๔ สมัย รวม ๑๑ ปีเศษ นอกจากนี้ยังได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในระดับชาติอีกมายมาย อาทิ เลขาธิการสภากาชาดไทยวุฒิสมาชิกรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยรองนายกรัฐมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง

คณะแพทยศาสตร์

ศาสตราจารย์พลตรีพระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่นพุทธิแพทย์) จบการศึกษาแพทยศาสตร์จากประเทศอังกฤษ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองบรรเทาทุกข์และอนามัยสภากาชาด ไทยนั้น ได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่ ๒ ของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพิ่มขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ นอกเหนือจากโรงเรียนแพทย์แห่งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้เพิ่มการผลิตแพทย์ให้เพียงพอกับความต้องการของประเทศด้วยเหตุนี้จึงได้ดำรงตำแหน่งคณบดี คนแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

คณะเภสัชศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.ตั้วลพานุกรม จบการศึกษาระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยเบิร์น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์จากนั้นได้ศึกษาวิชาเภสัชศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิวนิค ประเทศเยอรมนีและวิชาพฤกษศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งคณะราษฎรซึ่งทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.๒๔๗๕ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญในทางราชการและการเมืองหลายตำแหน่ง รวมทั้งได้รับการยกย่องว่ามีคุณูปการอย่างสูงต่อวงการเภสัชศาสตร์ของประเทศไทย โดยได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอิสระเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งต่อมาคือคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้ริเริ่มให้จัดตั้งโรงงานเภสัชกรรมเพื่อผลิตยาใช้ภายในประเทศซึ่งปัจจุบันคือองค์การเภสัชกรรมกระทรวงสาธารณสุข

คณะศิลปกรรมศาสตร์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ทรงคุณ อัตถากร จบการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับปริญญา MASTER OF FINE ARTS จากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับปริญญาเฉพาะด้านนี้นอกจากนี้ยังได้ผ่านการดูงานทางด้านศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากหลายสถาบันรวมทั้งจากแฟรงค์ ลอยด์ไรท์สถาปนิกเอกของโลกด้วย เริ่มเข้ารับราชการในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในตำแหน่งอาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และต่อมาได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะศิลปกรรมศาสตร์

นิสิตเก่า

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

ศาสตราจารย์อุปการคุณ เฉลิม รัตนทัศนีย์ จบการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต ในพ.ศ.๒๔๘๓ หลังจากนั้นได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในพ.ศ.๒๕๑๗ เป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ ได้อุทิศตนเพื่อการศึกษาทางด้านสถาปัตยกรรมมาโดยตลอด ผลงานสำคัญคือก่อตั้งภาควิชาศิลปประยุกต์ (ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรมในปัจจุบัน) ในด้านวิชาชีพได้เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

หม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เกษมศรี จบการศึกษาอนุปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตร์ในพ.ศ.๒๔๘๑ รับราชการในหลายหน่วยงาน คือ กรมโยธาเทศบาล กรมศิลปากรและ สำนักพระราชวัง รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาสถาปัตยกรรมไทยในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร ผลงานการออกแบบที่สำคัญ คือ พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ศาลาดุสิดาลัย เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาสตลอดจนควบคุมการบูรณะปฏิสังขรณ์พระที่นั่งองค์ต่างๆ ในพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น ด้วยผลงานต่างๆ นี้จึงได้รับการประกาศเกียรติคุณให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) ได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัญฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมทั้งได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลด้านสถาปัตยกรรมไทยจากคณะกรรมการวันอนุรักษ์มรดกไทยด้วย

คณะสหเวชศาสตร์

นายบุญช่วย เอี่ยมโภคลาภ จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) ใน พ.ศ.๒๕๒๐ และต่อมาได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (อายุรศาสตร์เขตร้อน) จากมหาวิทยาลัยมหิดล รับราชการในสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ (ก่อนกำหนด) ในตำแหน่งนักเทคนิคการแพทย์ ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานเทคนิคการแพทย์ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาและการปฏิบัติงานทางด้านเทคนิคการแพทย์ทั้งในระดับ
ชาติและนานาชาติส่งผลให้ได้รับการยกย่องเป็นนักเทคนิคการแพทย์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๑ จากสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย และในปีเดียวกันได้รับการคัดเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่น ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

คณะสหเวชศาสตร์

นางสาวทัศนีย์ สกุลดำรงพานิช จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (จุลชีววิทยาทางการแพทย์) ใน พ.ศ.๒๕๒๐ และ ๒๕๓๙ ตามลำดับ ดำรงตำแหน่งสำคัญ คือรองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตสภากาชาดไทย เป็นผู้มีบทบาทในการวิจัยและพัฒนาการผลิตน้ำยาตรวจหมู่โลหิต และน้ำยาต่างๆ ที่ใช้ในงานธนาคารเลือดซึ่งต่อมาได้นำไปใช้ในธนาคารเลือดทั่วประเทศ ทำให้ประหยัดเงินในการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเป็นจำนวนมากและส่งผลให้งานธนาคารเลือดในประเทศไทยได้มาตรฐานในระดับสูง จนทำให้องค์การอนามัยโลกส่งเจ้าหน้าที่บริการโลหิตในประเทศต่างๆ มาเข้ารับการฝึกอบรมเป็นประจำ รวมทั้งมีบทบาทในการช่วยก่อตั้งหรือพัฒนาศูนย์บริการโลหิตในประเทศอื่นๆด้วย

คณะวิทยาศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข จบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเคมีใน พ.ศ.๒๔๘๕ และ ๒๔๘๗ ตามลำดับ จากนั้นได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาเคมีอินทรีย์ จากมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษใน พ.ศ.๒๔๙๓ เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาย้ายไปสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้นในด้านวิชาการ เป็นผู้เชี่ยวชาญการวิจัยทางด้านอินทรีย์เคมี รวมทั้งยาปฏิชีวนะและสารประกอบทางเคมีที่สกัดจากสมุนไพรของไทย

คณะพยาบาลศาสตร์

พันเอกหญิง คุณหญิงอัสนีย์เสาวภาพ จบการศึกษาครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการพยาบาล ในพ.ศ.๒๕๒๐ ตำแหน่งงานสำคัญในสาขาการพยาบาล คือ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย และประธานชมรมพยาบาลสี่เหล่า เป็นต้น รวมทั้งได้รับการยกย่องประกาศเกียรติคุณหลายประการ คือ พยาบาลตัวอย่างจากสภากาชาดไทย พยาบาลดีเด่นจากสภาการพยาบาล ตลอดจนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาพยาบาลศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ.๒๕๔๗ ในทางสังคม ได้เคยดำรงตำแหน่งและได้รับการเชิดชูเกียรติในหลายวาระ อาทิ ประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ประธานสภาสตรีแห่งชาติ นายกสมาคมแม่ดีเด่นแห่งชาตินักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น และ อาสาสมัครดีเด่นแห่งชาติ เป็นต้น

คณะวิศวกรรมศาสตร์

นายเกษม จาติกวนิช จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและเครื่องกล ในพ.ศ.๒๔๘๙ และ ๒๔๙๐ ตามลำดับ จากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับปริญญามหาบัณฑิตทางด้านไฟฟ้าพลังน้ำ ณ มหาวิทยาลัยยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยี จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียใน พ.ศ.๒๕๒๗ เริ่มรับราชการในกรมชลประทาน ต่อมาได้ย้ายมาปฏิบัติงานในการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและได้รับตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยคนแรก โดยอยู่ในตำแหน่งนี้ถึง ๑๐ ปี รวมทั้งยังเป็นกรรมการบริหารหน่วยงานต่างๆ อีกหลายแห่ง ในงานด้านการเมือง เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จากบทบาทสำคัญเหล่านี้จึงทำให้ได้รับการยกย่องเป็น “วิศวจุฬากิตติคุณอาวุโสดีเด่น” ด้วย

คณะสัตวแพทยศาสตร์

นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ จบการศึกษาสัตวแพทยศาสตรบัณฑิตใน พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องช้างและสัตว์ป่า ดำรงตำแหน่งสำคัญ คือ ผู้อำนวยการสวนสัตว์ดุสิต องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยและนายสัตวแพทย์ช่วยราชการสำนักพระราชวัง ได้รับรางวัลสัตวแพทย์ดีเด่นจากสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย สัตวแพทย์ตัวอย่างจากสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และนิสิตเก่าดีเด่น สาขาผลงานด้านวิชาการ จากสมาคมศิษย์เก่าคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

รองศาสตราจารย์ คุณหญิงวรวรรณ ชัยอาญา จบการศึกษาบัญชีบัณฑิต และ บัญชีมหาบัณฑิต ใน พ.ศ. ๒๔๙๔ และ ๒๕๐๙ ตามลำดับ รับราชการเป็นอาจารย์ในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจนเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. ๒๕๓๐ ในตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ๙และหลังจากนั้นได้ดำรงตำแหน่งเหรัญญิกสภากาชาดไทย

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

นายอำนวย วีรวรรณ จบการศึกษาพาณิชยศาสตรบัณฑิตใน พ.ศ.๒๔๙๕ จากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับมหาบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ และระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกามีบทบาทสำคัญทางด้านการคลังของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ตำแหน่งสำคัญในราชการ อาทิ อธิบดีกรมศุลกากร และปลัดกระทรวงการคลัง รวมทั้งเป็นประธานและกรรมการรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่ง ในภาคธุรกิจ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ คือ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานสมาคมนายธนาคารแห่งเอเชีย ในด้านการเมือง เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรี

คณะนิติศาสตร์

นายไชยวัฒน์ บุนนาค จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตใน พ.ศ.๒๕๑๑ จากนั้นได้รับปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นนักกฎหมายผู้มีบทบาทสำคัญในหลายวงการ ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ตำแหน่งงานที่สำคัญ อาทิ Fellow of the Chartered Institute of Arbitrators (UK) และเป็นอนุญาโตตุลาการ ผู้ทรงคุณวุฒิของสถาบันดังกล่าวนายกสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสถาบันอนุญาโตตุลาการ
ประธานหอการค้าไทย-เยอรมัน กรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนบริษัทและองค์กรทางธุรกิจ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น

คณะอักษรศาสตร์

ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ จบการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิตและอักษรศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาประวัติศาสตร์ และได้ศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิตสาขาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริการับราชการในตำแหน่งอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนเกษียณอายุราชการ ได้ชื่อว่าเป็นนักประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง รวมทั้งมีชื่อเสียงในฐานะนักคิดและนักเขียน เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเพื่อเป็นช่องทางในการนำเสนอความรู้และวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทย จากผลงานเหล่านี้จึงทำให้ได้รับรางวัลต่างๆ เช่น นักวิจัยดีเด่นสาขาปรัชญาจากสำนักงานนคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ รางวัลวัฒนธรรมเอเชีย ฟูกูโอกะ และรางวัลศรีบูรพา เป็นต้น

คณะเศรษฐศาสตร์

นางสุชาดา กิระกุล จบการศึกษาเศรษฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ ๑) และต่อมาได้รับปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งวุฒิบัตร Hubert H. Humphrey Program จากมหาวิทยาลัยอเมริกัน และ Advanced Management Program จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินซึ่งดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในธนาคารแห่งประเทศไทย คือ ที่ปรึกษาผู้ว่าการรองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพทางการเงิน รองผู้ว่าการด้านบริหาร และหัวหน้าสำนักงานตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ตลอดจนเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษาการลงทุนของสภากาชาดไทยด้วย

คณะนิเทศศาสตร์

นายโดม สุขวงศ์ จบการศึกษานิเทศศาสตรบัณฑิตใน พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นนักวิชาการภาพยนตร์ผู้มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์แห่งชาติซึ่งต่อมาได้ปรับเปลี่ยนเป็นหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) รวมทั้งได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ด้วย จากบทบาทนี้ทำให้ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณหลายครั้ง อาทิ ได้รับรางวัล “แทนคุณแผ่นดิน” สาขาศิลปวัฒนธรรม รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำเกียรติยศ สาขาผู้อนุรักษ์ฟิล์มและภาพยนตร์ไทย และศิษย์เก่านิเทศศาสตร์ดีเด่น เป็นต้น

คณะทันตแพทยศาสตร์

ศาสตราจารย์ พิเศษ พลโท พิศาล เทพสิทธา จบการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตใน พ.ศ.๒๕๐๐ และด้วยความเป็นผู้ใฝ่รู้ ต่อมาจึงได้จบการศึกษาสาขาอื่นอีกหลายสาขาจากหลายสถาบัน คือ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี บริหารธุรกิจ นิติศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ เป็นผู้เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถในวิชาชีพและการบริหารราชการ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนามาตรฐานทันตแพทยศาสตร์ศึกษาของประเทศ ตำแหน่งงานที่สำคัญทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ รองเจ้ากรมแพทย์ทหารบก นายกทันตแพทยสภา นายกทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการประกาศเกียรติคุณยกย่องผลงานเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้รับปริญญาทันตแพทยศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชาทันตกรรมชุมชนคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

คณะครุศาสตร์

นายโกมล คีมทอง จบการศึกษาครุศาสตรบัณฑิตสาขามัธยมศึกษาใน พ.ศ.๒๕๑๒ เป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณของความเป็น “ครู” อย่างแท้จริง ให้ความสำคัญกับการศึกษาในฐานะที่เป็นหนทางของการสร้าง “ความคิด” มากกว่าการถ่ายทอดแต่เพียง “ความรู้” นอกจากนี้ยังเป็นผู้มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่ยังเป็นนิสิต เช่น จัดค่ายพัฒนาการศึกษาในชนบทในช่วงปิดภาคเรียน สนับสนุนกิจกรรมของชมรมปริทัศน์เสวนาในฐานะที่เป็นเวทีของการสร้างนิสิตให้มีอิสระทางคิด เป็นต้น เมื่อจบการศึกษาแล้วได้อุทิศตนไปเป็นครูในท้องถิ่นทุรกันดารที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และถูกลอบยิงเสียชีวิตที่นี่ แต่ก็นับว่าได้ทำตามปณิธานแห่งชีวิตที่ยึดมั่นอยู่ตลอดเวลา คือ “จะขอเป็นครูตราบชั่วชีวิต”

คณะรัฐศาสตร์

ศาสตราจารย์พิเศษ ทองต่อกล้วยไม้ ณ อยุธยา จบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต เป็นทั้งนักรัฐศาสตร์และผู้รอบรู้ทางด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรม ทางด้านวิชาชีพได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ คือ ปลัดกรุงเทพมหานคร กรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ คณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งเป็นอาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย นอกจากนี้ยังมีผลงานค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีความสามารถในการใช้ภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง จึงได้รับการยกย่องให้เป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยใน พ.ศ.๒๕๕๑

คณะรัฐศาสตร์

พลตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร จบการศึกษารัฐศาสตรบัณฑิต และได้ศึกษาต่อในหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการตำรวจที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริกา รับราชการตำรวจในหลายหน่วยงาน ตำแหน่งงานที่สำคัญ คือ หัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ และ รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจการพิเศษในด้านการเมือง เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสมาชิกวุฒิสภาและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นอกจากนี้ยังเป็นนักเขียนนวนิยายเกี่ยวกับวงการตำรวจและอาชญากรรม โดยนำมาจากประสบการณ์จริงจนได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ใน พ.ศ.๒๕๔๑

คณะเภสัชศาสตร์

เภสัชกรหญิง ท่านผู้หญิง ปรียา เกษมสันต์ ณ อยุธยา จบการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิตใน พ.ศ.๒๔๙๙ และศึกษาต่อระดับปริญญามหาบัณฑิต ณ วิทยาลัยเภสัชกรรมและวิทยาศาสตร์แห่งฟิลาเดเฟียประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกด้านเภสัชตำรับสากล และการเตรียมการทางเภสัชกรรม (WHO Expert Advisory Panel on the International Pharmacopoeia and Pharmaceutical) ตำแหน่งสำคัญทางราชการ คืออธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา นอกจากนี้ยังเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ รวมทั้งได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเภสัชศาสตร์ จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยใน พ.ศ.๒๕๒๙

สมเด็จเจ้าฟ้านิสิต

สำนึกที่ถูกปลูกฝังมา ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับสายธาราที่ไหลมาเรื่อยๆ บัดนี้เป็นอย่างไร และฉันได้ก่อกำไรให้แก่สังคมคุ้มกับที่สังคมลงทุนไปหรือเปล่า

พระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หนังสือ ๗๐ ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รำลึกอดีต

สมเด็จเจ้าฟ้าผู้ทรงมุ่งมั่น ใฝ่ศึกษาตลอดเวลา

ผลแห่งการเรียน

อินทรวิเชียร ๑๑

ศึกษาวิชาไว้ ก็จะได้ประโยชน์ครัน
เพื่อช่วยประเทศพลัน จิตเราก็เปรมปรีดิ์
ความรู้ประโยชน์พร้อม เพราะถนอมสกนธ์ศรี
การเรียนจะให้ดี ผลเด่นขยันจง
ช่วยชาติและตนยัง จะประทังสกุลวงศ์
ไทยเราจะยืนยง เพราะประชาระลึกเรียน

พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๑๔

กลับไปหน้าหลัก
ไอคอน PDPA

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีให้กับท่าน และเพื่อพัฒนาคุณภาพการให้บริการเว็บไซต์ที่ตรงต่อความต้องการของท่านมากยิ่งขึ้น ท่านสามารถทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคุกกี้ได้ที่ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และท่านสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

ท่านสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้ท่านสามารถใช้เว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ ท่านไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน โดยมีจุดประสงค์คือนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้มีคุณภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีกับผู้ใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราอาจไม่สามารถวัดผลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ให้ดีขึ้นได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า