วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
Chulalongkorn University Symphony Orchestra
วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นในสมัยศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. เกษม สุวรรณกุล ดำรงตำแหน่งอธิการบดี โดยจุฬาฯ ได้จัดสรรงบประมาณจากเงินผลประโยชน์ประจำปี พ.ศ. 2531 จำนวนหนึ่งและตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อดำเนินการจัดตั้งวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ขึ้น และได้ดำเนินการจนสามารถออกแสดงต่อสาธารณชนได้เป็นครั้งแรกในโอกาสครบรอบ 73 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2533 ในวาระของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ จรัส สุวรรณเวลา ครั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเป็นองค์ประธาน และต่อมาทรงรับวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ไว้ในพระอุปถัมภ์
การจัดกิจกรรมของวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ในช่วงแรกได้รับการสนับสนุนด้านการเงินส่วนหนึ่งจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด จนถึงปี พ.ศ. 2540 ในวาระของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. เทียนฉาย กีระนันทน์ จุฬาฯ ได้นำกิจกรรมวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ เข้าเป็นกิจกรรมหนึ่งในความดูแลของกองทุนเพื่อทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของจุฬาฯ ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ จึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม เพื่อจะสามารถดำเนินตามนโยบายของมหาวิทยาลัยในการพัฒนาดนตรีตะวันตกให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้อย่างชัดเจน
โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ขึ้น เพื่อกำหนดทิศทางและดำเนินนโยบายดังกล่าว และได้เชิญ ผศ.พ.อ. ชูชาติ พิทักษากร ศิลปินแห่งชาติ (สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) ปีพ.ศ. 2553) มาดำรงตำแหน่งศิลปินแห่งมหาวิทยาลัยและผู้อำนวยการดนตรีวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ จนถึงปัจจุบัน โดยคณะกรรมการประกอบด้วยคณาจารย์ทางด้านดนตรีจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ และคณะครุศาสตร์
วิสัยทัศน์ (Vision)
แหล่งเรียนรู้ทางด้านดนตรีของสังคม เพื่อพัฒนา ส่งเสริม และสร้างนักดนตรี (Music Hub)
พันธกิจ (Mission)
การดำเนินกิจกรรมทางด้านดนตรีวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ได้เริ่มจากการจัดแสดงวงซิมโฟนีออร์เคสตราปีละ 2 ครั้ง โดยมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ทางด้านดนตรีของนิสิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ดนตรี (Music History) ทฤษฎีดนตรี (Music Theory) การพัฒนาทักษะด้านดนตรี (Music Skill) การบรรเลงร่วมกัน (Rehearsal) และประสบการณ์ในการบรรเลงดนตรี (Musicianship) ผ่านการควบคุมการฝึกซ้อมโดยผู้อำนวยเพลงที่เป็นคณาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยหมุนเวียนมาในแต่ละรายการแสดง อาทิ ผศ.พ.อ. ชูชาติ พิทักษากร ศ.ดร. วีรชาติ เปรมานนท์ รศ. ธงสรวง อิศรางกูร ณ อยุธยา อ.บรูซ แกสตัน (Bruce Gaston) ผศ. ชูวิทย์ ยุระยง รวมถึงการเชิญผู้อำนวยเพลงชาวต่างชาติเช่น เจมส์ ยานนาโทส (James Yannatos), ไอซาโอะ มัตซูชิตะ (Isao Matsushita) และโคจิ คาวาโมโต (Koji Kawamoto) โดยปัจจุบันมีผู้อำนวยเพลงประจำ (Residence Conductor) 2 ท่าน คือ ผศ.ดร. นรอรรถ จันทร์กล่ำ และ ดร. ภาวศุทธิ์ พิริยะพงษ์รัตน์ ทั้งนี้ การแสดงแต่ละครั้งมีการกำหนดเนื้อหาและคัดเลือกบทเพลงชิ้นเอก (Masterpiece) ของผู้ประพันธ์เพลงที่ได้รับยกย่องในระดับสากล หรือบทเพลงที่มีเนื้อหาสาระในการเรียนรู้ทางด้านดนตรี เพื่อพัฒนาทักษะแก่นิสิตเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ วงยังมีกิจกรรมทางด้านดนตรีของกลุ่มเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถในการบรรเลงของเครื่องต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประสมวงที่เป็นมาตรฐาน เช่น วงเครื่องสายจุฬาฯ (String Orchestra) วงเครื่องลมไม้ (Woodwind Ensemble) วงเครื่องลมทองเหลือง (Brass Ensemble) คณะนักร้องประสานเสียง (Concert Choir) และวงเฉพาะเครื่องดนตรีนั้น เช่น วงฟลุต (Flute Ensemble) วงคลาริเน็ต (Clarinet Ensemble) วงแซกโซโฟน (Saxophone Ensemble) วงเครื่องกระทบจังหวะ (Percussion Ensemble) และที่สำคัญคือ วงวิโอลา (Viola Ensemble) ในนาม “The Viola Lovers” ซึ่งเป็นวงวิโอลาวงแรกและวงเดียวของเอเชีย ก่อตั้งโดย ผศ.พ.อ. ชูชาติ พิทักษากร
การจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) และการบรรยาย (Lecture) เป็นอีกกิจกรรมที่ทางวงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาฯ ได้จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในส่วนกิจกรรมประจำปี เช่น เทศกาลขับร้องประสานเสียง (CU Choral Fest) ค่ายนักร้องประสานเสียง (Thailand Choral Camp) และการต้อนรับและแลกเปลี่ยนทางด้านดนตรี (Music Connection) จากนักดนตรี หรือวงต่างๆ ที่เข้ามาจัดแสดงในประเทศไทยอีกด้วย
ติดต่อหน่วยงาน
วงซิมโฟนีออร์เคสตราแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาคารจามจุรี 9 ชั้น 6 ซอยจุฬาฯ 42
ถนนพญาไท วังใหม่ ปทุมวัน กทม. 10330