พระพุทธชินสีห์ : คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ”
ในหมู่มนุษย์นั้น ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐสุด
เมื่อคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 50 ปี ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2533 คณาจารย์ในคณะมีดำริจะสร้างพระพุทธรูปไว้สำหรับสักการะบูชาประจำคณะ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คณาจารย์ นิสิต บุคลากร และบรรดาทันตแพทย์
ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช คณบดีในขณะน้ัน จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ถึงการจัดสร้างพระพุทธรูป พร้อมทั้งขอพระราชทานมวลสารหลักสำหรับบรรจุในองค์พระ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับคณะทันตแพทยศาสตร์ จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตเชิญพระบรมทนต์ ส่วนกรามน้อยบนซึ่งแตกบิ่นออก รวมถึงวัสดุที่ใช้ทำพระบรมทนต์เป็นมวลสาร เมื่อความทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท จึงมีพระราชดำรัสว่า
“ทุกอย่างอยู่ที่ศรัทธา ถึงจะมีหรือไม่มีพระทนต์ ก็คงไม่แตกต่างกัน แต่ถ้าศรัทธาก็ยินดีให้ ขอเพียงให้อาจารย์และทันตแพทย์ทุกคนเป็นคนดี และช่วยสั่งสอนศิษย์และคนอื่นให้เป็นคนดีต่อไป”
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (สุวฑฺฒนมหาเถร) สกลมหาสังฆปริณายกพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระเมตตาประทานอุปถัมถ์ในการจัดสร้าง โดยทรงประกอบพิธีทำสารละลายพระบรมทนต์ เพื่อผสมลงในมวลสาร ทั้งประทานลายพระหัตถ์ ญสส (สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช) และข้อความ “ทนฺโต เสฏฺโฐ” แปลว่า ฝึกตนได้ประเสริฐ เพื่อเชิญมาประดิษฐานที่องค์พระ
พระพุทธชินสีห์ ประดับอักษรพระบรมนามาภิไธย ภ.ป.ร. จัดสร้างขึ้นตามแบบของพระพุทธชินสีห์ ประธานพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งในพุทธบัลลังก์เป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 6 ผู้ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ปัจจุบันเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารรัชกาลที่ 9 ด้วย)
เนื่องในวันวิสาขบูชา พุทธศักราช 2563
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ