วันที่ระลึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3 มกราคม 2458 – 2563

นับแต่สมัยโรงเรียนมหาดเล็ก อันเป็นต้นกำเนิดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นต้นมา วิชาทางมนุษยศาสตร์มีการจัดการเรียนการสอนอยู่บ้างแล้วในหลักสูตรของนักเรียนมหาดเล็ก ดังเช่น ประวัติศาสตร์ ที่สมัยนั้นเรียกว่า พงศาวดาร วิชาออฟฟิศ หรืองานสารบรรณ ภาษา เช่น การเขียนเรียงความ วัฒนธรรม เช่น จรรยามารยาทของมหาดเล็ก มาจนกระทั่งถึงสมัยโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรเสมียนเอก วิชาประเภทมนุษยศาสตร์ที่ทำการเรียนการสอนมีการอ่าน เขียน คัด ทาน แต่ง บาญชีหนังสือ ราชาศัพท์ ภูมิศาสตร์เมืองไทย และจรรยา หลักสูตรวิชาชั้นสำรองนายเวร มีเพิ่มวิชาสากลภูมิศาสตร์ พงศาวดารสยาม วิธีทำแผนที่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพุทธศักราช 2459 หนึ่งใน 8 แผนกวิชาที่มีพระราชประสงค์ และความประสงค์ของสภาจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ให้มีการเรียนการสอนมาแต่เดิมนี้ คือวิชาราชบัณฑิต (วิชาหนังสืออย่างสูงและการเรียนภาษา) เมื่อจัดขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย “คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์” จึงเป็นหนึ่งในสี่คณะแรกที่จัดการเรียนการสอน โดยเน้นหลักสูตรพื้นฐานเพื่อเตรียมแพทยศาสตร์ แพทย์ปรุงยา กับทั้งวิชาอักษรศาสตร์ อาทิ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ประวัติศาสตร์ รวมถึงการครู เวลาต่อมากระทรวงธรรมการส่งเสริมให้มีการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ และการครู จึงได้มีการเปิดวิชาเพิ่มมากขึ้น เช่น ภาษาบาลี ฝรั่งเศส เยอรมัน ภูมิศาสตร์ ธรรมวิภาค และคณิตศาสตร์ โดยจัดเป็นหลักสูตรสามปี โดยเรียนวิชาอักษรศาสตร์ในสองปีแรก และวิชาครูอีกหนึ่งปี ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ได้เพิ่มเติมวิชาเคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น จากการเข้าศึกษาเป็นจำนวนมากและเพื่อให้สามารถจัดการพัฒนาหลักสูตรได้ถึงขั้นปริญญา จึงมีแนวคิดที่จะแยกวิชาอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ออกเป็นคณะ จนถึงพุทธศักราช 2486 จึงมีการตราพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2486 จัดตั้งคณะอักษรศาสตร์ คณะหนึ่ง และคณะวิทยาศาสตร์ คณะหนึ่ง แต่ยังคงมีคณบดีกำกับราชการคนเดียวกันรวมถึงงานด้านธุรการด้วย ต่อมา คณะได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์” เพื่อจัดการเรียนการสอนวิชาครูในขั้นปริญญา

ต่อมา เมื่อมีพระราชกฤษฎีการจัดตั้งคณะครุศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช 2500 คณะอักษรศาสตร์จึงดำเนินงานด้านการศึกษาอักษรศาสตร์ มนุษยศาสตร์โดยเฉพาะอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจัดตั้งเป็น 11 ภาควิชา และหลักสูตรนานาชาติเพิ่มขึ้นในปัจจุบันด้วย

ประมาณพุทธศักราช 2495 นิสิตชายของคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ ได้มีความคิดร่วมกันที่จะจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในหมู่คณะ ทั้งนิสิตเก่าและนิสิตปัจจุบัน จึงได้เลือกวันที่ 3 มกราคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีก่อพระฤกษ์โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ต่อมาคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช 2458 ณ ตึกบัญชาการ หรืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน และคณะอักษรศาสตร์ได้ใช้อาคารหลังนี้เป็นที่ทำการและจัดการเรียนการสอนอยู่เป็นระยะเวลายาวนาน จึงเป็นความผูกพัน ทั้งเพื่อน้อมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า และเหตุการณ์อันสำคัญครั้งนั้น แนวความคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากคณาจารย์ในคณะ อีกทั้งได้เสนอให้นำ “พระสรัสวดี” เทพเจ้าแห่งการอักษรศาสตร์และศิลปวิทยาการตามคติพราหมณ์ มาเป็นสัญลักษณ์ของคณะด้วย คณะอักษรศาสตร์จึงได้ใช้รูปพระสรัสวดี และวันที่ 3 มกราคม เป็นวันที่ระลึกถึงคณะอักษรศาสตร์ทุกปีสืบมา

ปัจจุบัน คณะอักษรศาสตร์ มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีทักษะ เห็นคุณค่า และเข้าใจความซับซ้อนของภาษา วัฒนธรรม และศิลปะในมิติอันหลากหลาย เปิดสอนระดับปริญญาบัณฑิตและระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ อาทิ ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ ศิลปการละคร ภูมิศาสตร์ ฯลฯ รวมทั้งเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ Language and Culture ในระดับปริญญาตรี ตลอดจนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาวิชาการล่ามด้วย

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall