ร่มจามจุรีนี้คือร่มใจพี่น้องและเพื่อน

ความผูกพันระหว่างชาวจุฬาฯ กับต้นจามจุรี มีมายาวนานเท่าๆ กับประวัติของมหาวิทยาลัย นับแต่ยังเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งของวังวินเซอร์ หรือวังใหม่ประทุมวัน รวมถึงบริเวณตึกบัญชาการ หรืออาคารมหาจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน ต้นจามจุรีก็มีอยู่แทบทุกพื้นที่ แผ่กิ่งก้านให้ชาวจุฬาฯ รุ่นบุกเบิกได้อาศัยทำกิจกรรม อ่านหนังสือ และพักผ่อนหย่อนใจ

ช่วงพุทธศักราช 2490 กิจกรรมรับน้องใหม่ของจุฬาฯ ก็เริ่มมีการนำก้านใบจามจุรีมาทำเป็นมาลัย และใช้ใบโปรยปรายต้อนรับน้องใหม่ เช่นเดียวกันกับบรรดานักกีฬาของมหาวิทยาลัยที่ได้รับชัยชนะ ก็จะได้รับมาลัยใบจามจุรีเป็นรางวัลเพิ่มด้วย บทบาทในฐานะสัญลักษณ์หนึ่งของจุฬาฯ มากยิ่งขึ้น จนเป็นเพลงที่รู้จักกันดีคือ “จามจุรีศรีจุฬาฯ” ที่ครูแก้ว อัจฉริยะกุล สังเกตการเปลี่ยนแปลงของต้นจามจุรีว่า ออกดอกช่วงปลายปีการศึกษา ฝักหล่นช่วงกลางปีการศึกษา จึงนำธรรมชาติของต้นจามจุรีมาบอกเล่าชีวิตนิสิตจุฬาฯ บรรจุทำนองอันไพเราะของครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงเป็นบทเพลงแรกของจุฬาฯ ที่กล่าวถึงต้นจามจุรี

ความเจริญเติบโตของมหาวิทยาลัย ทำให้ไม้ใหญ่ประจำสถาบันต้องหลีกทางเพื่อใช้พื้นที่จัดสร้างอาคาร จึงเริ่มมีการโค่นต้นจามจุรีออกจากพื้นที่จุฬาฯ เป็นจำนวนมากจนบางตา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาฯ ทุกปี ทรงสังเกตถึงการลดจำนวนลงของจำนวนต้นจามจุรีในจุฬาฯ มาโดยตลอด ถึงวันที่ 15 มกราคม 2505 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประสานมายังมหาวิทยาลัยว่า ในช่วงบ่ายวันนั้น จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นจามจุรีที่ทรงนำมาจากพระราชวังไกลกังวลเป็นการส่วนพระองค์ แม้ว่าจะเป็นการกระทันหัน แต่บรรดาคณาจารย์และนิสิต ต่างพร้อมกันเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่บริเวณด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ อย่างเนื่องแน่น คณะกรรมการสโมสรนิสิตจุฬาฯ ได้ถวายการช่วยเหลือขณะที่ทรงปลูกอย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ภายหลังทรงปลูกต้นจามจุรีแล้ว พระราชทานพระบรมราชาธิบายแก่ชาวจุฬาฯ ที่บริเวณด้านหน้าหอประชุม ความตอนหนึ่งว่า

“…ห้าต้นนี้ได้เลี้ยงตั้งแต่เกิด คือว่าปีที่แล้วไปที่หัวหินแล้วก็ปลูกต้นไม้ พวกนี้ก็เกิดมาด้วย
เมื่อเกิดมาแล้วสงสารก็ต้องเลี้ยง เลี้ยงจนเติบโตพอควรก็เห็นว่าโตแล้ว

ควรเข้ามหาวิทยาลัยเสียที แล้วก็มหาวิทยาลัยที่เหมาะสมกับที่นี่
เพราะว่าเขาเอ็นดูต้นจามจุรี
ก็เชื่อว่าต้นไม้ทั้งห้าต้นนี้ นิสิตทั้งหลายคงรักษาไว้ให้เติบโต ไม่ให้ล้มตาย
คือต้นไม้พวกนี้ ก็คงจะเป็นความสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยต่อไป…
…ฝากต้นไม้ไว้ให้ห้าต้น ให้เป็นเครื่องเตือนใจตลอดกาล”

เหตุการณ์ครั้งนั้นได้ย้ำเตือนถึงความสำคัญของต้นจามจุรี ในฐานะต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย ต้นจามจุรีทั้ง 5 ต้นที่ทรงปลูกไว้เมื่อ 59 ปีก่อน ก็ยังคงหยั่งรากลึกอยู่ด้วยความดูแลเอาใจใส่ เช่นเดียวกับต้นจามจุรีอื่นๆ ที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ ทั้งจากการบำรุงรักษาตามหลักวิชา และด้วยความผูกพันที่ชาวจุฬาฯ มีต่อต้นจามจุรีเสมอมา

“ณ อุทยานนี้งามด้วยจามจุรี เขียวขจีแผ่ปกพสกจุฬาฯ
ไพศาลตระหง่านสาขา ใต้ร่มพฤกษาจุฬาฯ ร่มเย็น”

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall