“มหาวิทยาลัยเป็นอาภรณ์สำหรับมหานครที่รุ่งเรืองแล้ว
มหานครใดมีมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อเสียงสมจะอวดได้
ก็ย่อมเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติคุณของมหานครนั้น
ก็ย่อมได้ชื่อเสียงปรากฏความรุ่งเรืองแผ่ไพศาลไปในทิศทั้งปวงด้วย”
(เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เขียนลงในหนังสือพิมพ์ล้อมรั้ว 2457)
กว่าการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาของสยาม ดำเนินการมาจนสามารถสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมประสงค์ที่จะจัดการศึกษาของชาติให้เป็นรูปแบบเสมออารยประเทศ ทรงอำนวยการจัดเตรียมการเหล่านี้ในหลายด้าน รวมถึงบุคลากรที่จะมาดำเนินงานให้บรรลุผลด้วย หนึ่งในบุคคลที่ได้เป็นกำลังสำคัญในการสถาปนาอุดมศึกษาขึ้นในประเทศนี้ คือ “เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)” นักเรียนทุนหลวงกระทรวงธรรมการไปศึกษาวิชาครูต่อ ณ วิทยาลัยฝึกหัดครูเบอโรโรด (Borough Road College) ณ เมืองไอส์ลเวิซท์ (Isleworth) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภายใต้การดูแลของเซอร์ โรเบิร์ต มอแรน พระอาจารย์ของรัชกาลที่ 6 จบแล้วได้เดินทางไปดูงานด้านการศึกษาที่ประเทศอินเดียและพม่า จึงกลับมารับราชการในกระทรวงธรรมการ ถึงพุทธศักราช 2445 ได้เดินทางไปดูงานการศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมกับขุนอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้เป็นน้องชาย และพระชำนิบรรณาคม (อ่อน สาริบุตร) แล้วจึงโดยเสด็จสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ขณะทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมารกลับสู่พระนคร ภายหลังการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เพื่อทอดพระเนตรกิจการต่าง ๆ รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาของประเทศทั้งสองด้วย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อพุทธศักราช 2453 งานการศึกษาที่ดำเนินมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ยังคงเดินหน้าต่อไป หนึ่งในงานสำคัญคือการก่อตั้งมหาวิทยาลัย เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการในเวลานั้น ซึ่งได้ดำเนินงานเตรียมการอุดมศึกษามาตั้งแต่ในรัชกาลก่อน สุขภาพทรุดโทรมลงมากจากการโหมงานอย่างหนัก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ขณะเป็นปลัดทูลฉลองกระทรงธรรมการ จึงเป็นกำลังสำคัญที่จะอำนวยการต่อไป
การดำเนินงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยนั้นมีอุปสรรคอย่างมากตลอดมา ไม่เพียงแต่ในเรื่องของการจัดหาสถานที่ งบประมาณ คณาจารย์ เป็นต้น ยังพบกับการต่อต้าน คัดค้านของผู้ใหญ่ในราชการอีกด้วย จากมุมมองที่เห็นต่างกัน หากแต่ด้วยความมานะพยายาม ทั้งแรงกาย โดยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการและกรรมการสภาจัดการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สติปัญญา อาทิ เขียนบทความ คำประพันธ์ เพื่อชี้แนะให้เห็นถึงความสำคัญของมหาวิทยาลัย ผนวกกับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า การสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงดำเนินการจนสำเร็จในพุทธศักราช 2459 ดังความในพระราชหัตถเลขาที่ว่า
“ถึงพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้รับหนังสือลงวันที่ 21 เดือนนี้
หาฤๅเรื่องจะรวมโรงเรียนข้าราชการพลเรือนกับโรงเรียนแพทยาลัย ขึ้นเปนมหาวิทยาลัย
และบรรจุตำแหน่งน่าที่ทางกระทรวงธรรมการนั้นทราบแล้ว
ตามความเห็นที่ชี้แจงมานั้น เห็นชอบด้วยแล้วให้จัดการไปตามนี้”
ภายหลังการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยคนแรก ก็คือพระยาอนุกิจวิธูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) น้องชายและผู้รวมงานทางการศึกษาของท่านนั่นเอง นอกจากนี้เรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับความผูกพันระหว่างเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคือ ท่านแนะนำให้บุตรี 2 คน สอบเข้าเป็นนิสิตรุ่นแรกในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คือคุณปรียา (เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ฉิมโฉม ผู้บุกเบิกด้านการผังเมืองและผู้อำนวยการ (เทียบเท่าอธิบดี) สำนักผังเมืองคนแรก และคุณธารี เทพหัสดิน ณ อยุธยา นอกจากจะเป็นนิสิตรุ่นแรกของคณะฯ และเป็นนิสิตหญิง 2 คนแรกของคณะฯ นี้อีกด้วย
แม้ว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2486 หากแต่บรรดาทายาทและผู้เกี่ยวเนื่องยังผูกพันกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่หลายท่าน หลายรุ่น ทั้งเป็นนิสิต อาจารย์ ผู้บริหาร ทั้งสนับสนุนกิจการของมหาวิทยาลัยมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่ได้มอบทุนการศึกษาให้กับนิสิตคณะครุศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในทุนมูลนิธิเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา ทุนพระยาอนุกิจวิทูร (สันทัด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ทุนคุณโชติ และอาจารย์เสนาะจิตร (เทพหัสดิน ณ อยุธยา) สุวรรณโพธิ์ศรี ทุนคุณเล็ก และอาจารย์ยาหยี (เทพหัสดิน ณ อยุธยา) สาวนายน
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall