“ประเทศของเรานี้ไม่มีสิ่งไรจะสำคัญเท่ากสิกรรม ถ้าไม่คิดบำรุงกสิกรรมให้เจริญก่อนแล้ว พาณิชยการก็จะบำรุงขึ้นได้โดยยาก ถึงแม้ว่าจะให้เฟื่องฟูขึ้นได้ก็คงจะเป็นไปได้พักหนึ่ง ๆ เท่านั้น ถ้าไม่มีกสิกรรมหนุนอยู่แล้ว จะให้พาณิชยการ มั่นคงไปยืดยาวไม่ได้นาน”

ความตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานเปิดการแสดงกสิกรรมและพาณิชยการ 10 เมษายน 2454 สะท้อนพระราชดำริเกี่ยวกับการกสิกรรมว่าเป็นกำลังสำคัญของชาติ นอกจากพระราชกรณียกิจในการช่วยพัฒนากสิกรรมของไทย ดังเช่น การชลประทาน การพาณิชย์ การรักษาพันธุพืชและส่งเสริมกสิกรรมแล้ว หนึ่งในพระราชประเพณีที่บำรุงขวัญแก่ปวงชนผู้ประกอบเกษตรกรรม ก็ทรงถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่ทรงปฏิบัติสม่ำเสมอ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญครั้งรัชกาลที่ 6 นั้น แบ่งการประกอบพระราชพิธีเป็น 2 วัน วันแรกประกอบพระราชพิธีพืชมงคล โดยตั้งการพระราชพิธี เชิญพระพุทธรูปสำคัญ มีพระพุทธคันธาราราษฎร์ เป็นต้น และเทวรูปต่างๆ ไปประดิษฐานที่พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระราชวังดุสิต ซึ่งใช้สถานที่นี้มาตั้งแต่ในรัชกาลที่ 5 สืบมาจนถึงพุทธศักราช 2464 และใช้พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ พระราชวังพญาไท เป็นที่ประกอบพระราชพิธี ตั้งแต่พุทธศักราช 2465 – 2467 ในปีสุดท้ายแห่งรัชกาล คือพุทธศักราช 2468 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระตำหนักน้ำ ท่าวาสุกรี เป็นที่ประกอบพระราชพิธี

วันถัดมาเป็นวันประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยประกอบพิธีที่ทุ่งพญาไท คือบริเวณพระราชวังพญาไทในปัจจุบัน เป็นลานแรกนาสืบมาแต่ในรัชกาลที่ 5 ถึงปีพุทธศักราช 2463 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ทุ่งศาลาแดง คือในบริเวณสวนลุมพินีในปัจจุบัน เป็นลานแรกนา ต่อมาเมื่อพระราชทานทุ่งศาลาแดง เพื่อใช้จัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ในพุทธศักราช 2468 จึงได้ย้ายกลับมาประกอบการจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ทุ่งพญาไทจนระงับการประกอบพระราชพิธีนี้ในพุทธศักราช 2477

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมาตลอดรัชกาล ทั้งทรงเพิ่มเติมรายละเอียดบางประการ เช่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระพุทธคันธารราษฎร์กะไหล่ทอง ที่พระยาอัพภันตรีกามาตย์ (จ่าง ภาณุทัต) และข้าราชบริพาร หล่อขึ้นจากพระประทุมบัตรของรัชกาลที่ 5 (แผ่นเงินรองพระบรมโกศขณะทรงพระบรมศพ) ขึ้นตั้งพระแท่นมณฑล ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวรูปพระโค เพิ่มขึ้นสำหรับตั้งพระแท่นมณฑลขึ้นอีกองค์หนึ่ง นอกจากนี้ ในธนบัตรแบบ 2 ที่สร้างขึ้นในรัชกาลนี้ ทรงเลือกภาพพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นภาพด้านหลังของธนบัตรแบบดังกล่าวอีกด้วย

#140ปีพระบรมราชสมภพสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall