พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยกิจการมหาวิทยาลัยไว้ในพระราชดำรัสโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช 2470 ความตอนหนี่งว่า

“การมหาวิทยาลัยนั้น โดยเหตุขัดข้องบางประการ การงานแผนกนี้ยังหาเจริญขึ้นเท่าที่เราปรารถนาจะได้เห็นไม่ นอกจากในแผนกเวชชศึกษา ซึ่งได้ความช่วยเหลือนอกราชการ เช่นจากรอกกีเฟลเลอร์มูลนิธิ และจากพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการพ่อค้าคฤหบดีอื่นๆ นั้น ได้ช่วยนำกิจการให้เจริญขึ้นรวดเร็วกว่าแผนกอื่นๆ อันเราใคร่จะกล่าวชมในที่นี้ การร่วมมือระหว่างรัฐบาลของเรากับรอกกีเฟลเลอร์มูลนิธิได้ดำเนินมาได้ผลอันควรพอใจ และเราหวังว่าจะยังผลให้บังเกิดต่อไปได้อีกในอนาคตเป็นอเนกประการ”

ในวันที่ 21 มิถุนายน 2470 และวันที่ 9 สิงหาคมของปีเดียวกัน ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เยี่ยมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งนั้นทรงลงพระบรมนามาภิไธยในสมุดเยี่ยม ความว่า

“ได้มาเยี่ยมมหาวิทยาลัยนี้ ได้แลเห็นสถานที่ใหญ่โตเหมาะสำหรับที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่โตอันหนึ่งในทางตะวันออก แต่เท่าที่ได้เห็น รู้สึกว่ามีนักเรียนน้อยมาก ที่จริงวิชาที่สอนก็น่าจะเป็นประโยชน์ในทางอาชีพ แต่รู้สึกว่าคนไทยยังไม่สู้เข้าใจความจำเป็นในการที่จะเรียนวิชาขั้นสูงต่อไป เมื่อเรียนวิชาสามัญจบแล้ว ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักเรียนน้อยไป หวังว่าต่อไปมหาวิทยาลัยนี้จะเจริญขึ้นกว่านี้”

ต่อมาจึงทรงพระราชดำริว่าควรจะมีการสำรวจแนวทางการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนาให้เจริญขึ้นอีก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ เสนาบดีกระทรวงธรรมการในขณะนั้น ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย “บันทึกเรื่องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เกี่ยวกับการดำเนินงานมหาวิทยาลัย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรรมการดำริรูปการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการทางนโยบายเกี่ยวกับการปรับปรุงกิจการมหาวิทยาลัย คณะกรรมการชุดนี้มีพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ทรงรับเป็นประธานกรรมการ คณะกรรมการได้ปรึกษาหาหนทางแก้ไขปัญหา เช่น บริบททางการบริหารมหาวิทยาลัยในประเทศต่างๆ รูปแบบการปกครองภายในมหาวิทยาลัยที่ควรจะเป็น ความยั่งยืนของสถานศึกษา การจัดการทรัพย์สินของสถานศึกษา ฯลฯ จนเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพุทธศักราช 2475 การดำเนินงานของกรรมการชุดนี้จึงได้ยุติลงโดยปริยาย

ความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ ที่ได้ดำเนินการสืบเนื่องมาตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ยังผลให้ยกระดับทุกสาขาวิชาเทียบชั้นมาตรฐานสากลได้ จึงอนุมัติให้บัณฑิตแพทย์ รุ่นปีการศึกษา 2471 และ 2472 รวม 34 คน ได้รับปริญญาชั้น Medicinae Baccalauseus ตามหลักสูตรที่ริเริ่มโดยมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ การพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตครั้งแรกของกรุงสยาม จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2473 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีมาพระราชทานปริญญาบัตรแก่เวชชบัณฑิตสองรุ่นแรก ในวาระนี้ มหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์บัณฑิตพิเศษ ฐานะที่ทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภกของมหาวิทยาลัยด้วย ต่อมาในเดือนมีนาคม 2473 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตามที่เสนาบดีกระทรวงธรรมการกราบบังคมทูลพระกรุณาฯ ให้สงวนธรรมเนียมการพระราชทานปริญญาบัตรเป็นการเฉพาะหน้าพระที่นั่ง หรือมีการถวายปฏิญญาต่อเบื้องหน้าพระบรมรูป และมีผู้แทนพระองค์เสมอไปจนถึงปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อพุทธศักราช 2477 เสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษจนเสด็จสวรรคตในวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ภายหลังถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว พุทธศักราช 2492 จึงได้เชิญพระบรมอัฐิเข้าสู่ประเทศไทยในวันที่ 24 พฤษภาคม 2492 การนี้ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจำนวนมาก ได้สนองพระเดชพระคุณในหน้าที่มหาดเล็กคู่แห่ริ้วกระบวนเชิญพระบรมอัฐิ แม้ว่าในเช้าวันถัดไปจะเป็นวันสอบของนิสิตก็ตาม ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิสิตทุกคนที่เข้าริ้วกระบวน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานเสมาอักษรพระบรมนามาภิไธย ปปร. เบื้องหน้าพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานบนพระแท่นมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall