“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานกำเนิด และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้น ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้ทรงเป็นพระราชนัดดาในรัชกาลที่ 5 และเป็นพระราชธิดาแต่เพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 จึงทรงผูกพันกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่พระบรมอัยกา และพระบรมชนกนาถที่ก่อตั้งเป็นอย่างยิ่ง

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จมาทรงมาทรงร่วมงาน และปฏิบัติพระกรณียกิจที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหลายวาระ ดังเช่น การฉลอง 50 ปีของมหาวิทยาลัย การบำเพ็ญกุศลในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัย ทรงเปิดพระบรมรูปสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้าที่ประดิษฐาน ณ อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ ทั้งได้พระราชทานทุนในการก่อสร้างด้วย เมื่อคราวพระชนมายุ 72 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเฉลิมพระเกียรติขึ้นที่บริเวณเรือนภะรตราชา ก็เสด็จมาประทับท่ามกลางชาวจุฬาฯ และทอดพระเนตรโขนชุด นรสิงหาวตาร วาระต่อมา ได้เสด็จมาทรงเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ณ หอประวัติจุฬาฯ ตึกจักรพงษ์ ในส่วนของคณะ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรศูนย์เพชรรัตนนิติทรัพยากร ที่พระราชทานทุนสร้างไว้ในคณะนิติศาสตร์ ทั้งทรงก่อตั้งทุนการศึกษา “จุฬาเพชรรัตน”เพื่อประโยชน์ต่อนิสิตมีผลการเรียนดี และสนใจในการค้นคว้าวิจัย และอีกนานัปการที่ได้พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยแห่งนี้

เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สนองพระคุณูปการที่พระราชทานแก่มหาวิทยาลัย สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงมีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่สมเด็จเจ้าฟ้า ผู้ทรงเป็นประดุจดังสายใย ที่เชื่อมชาวจุฬาฯ ไว้กับสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผู้ทรงสถาปนามหาวิทยาลัยนั่นเอง

เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความโทมนัสอย่างยิ่ง และสำนึกในพระกรุณาธิคุณมที่พระราชทานมาโดยตลอด จึงได้สนองพระกรุณาด้วยประการต่างๆ อาทิ ถวายน้ำสรงพระศพ ณ ศาลาสหทัยสมาคม เมื่อประดิษฐานพระศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว คณาจารย์ นิสิต นิสิตเก่า ต่างหมุนเวียนกันไปถวายบังคม เฝ้าพระศพ และร่วมในการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมตลอดระยะเวลาการบำเพ็ญพระราชกุศล ในโอกาสครบ 50 วัน และ 100 วันแห่งการสิ้นพระชนม์ วงดนตรีสากลสโมสรนิสิตฯ ( CU Band) เข้าไปแสดงถวายดังเช่นที่เคยไปแสดงเมื่อคราววันประสูติที่วังรื่นฤดี จนกระทั่งถึงการพระราชทานเพลิงพระศพ คณาจารย์และนิสิตได้ร่วมในริ้วกระบวนเชิญพระโกศ และร่วมถวายพระเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง และวง CU Band ได้บรรเลงเป็นมหรสพสมโภชจนถึงรุ่งเช้า

พระอนุสรณ์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นประจักษ์พยายถึงพระกรุณาของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี อาทิ ศูนย์เพชรรัตนนิติทรัพยากร ที่พระราชทานเงินทุนไว้ ซึ่งต่อมาได้สร้างพระรูปครึ่งพระองค์ได้ประดิษฐานไว้ที่นี้ด้วย ทั้งในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ทุกปี มหาวิทยาลัยจะนำพวงมาลาไปถวายสักการะ ณ เสาวภาประดิษฐาน สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามเป็นประจำทุกปี

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall