พระราชชายาเจ้าดารารัศมี
ทรงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของล้านนาไว้เป็นอย่างดี เมื่อสมัยประทับที่วังหลวงทรงให้ข้าหลวงในตำหนักแต่งกาย นุ่งซิ่นอย่างชาวล้านนา ทำผมมวย ปรุงอาหารเหนือรับประทาน ภาษาที่ใช้สื่อสารก็เป็นภาษาเหนือ ถึงอย่างไรก็ตามพระราชชายาฯ ทรงสนพระทัย ศึกษาและเปิดกว้างเกี่ยวกับประเพณีวัฒนธรรมของภาคกลาง เมื่อเสด็จกลับเชียงใหม่ จึงมีการนำวัฒนธรรมภาคกลางมาดัดแปลงให้เข้ากับวัฒนธรรมล้านนา เช่นการทำบายศรี เย็บใบตอง ท่านได้รวบรวมผู้มีฝีมือด้านงานใบตองและบายศรีในเชียงใหม่ มาฝึกสอนผู้ที่สนใจในวังและทรงจัดระดับชั้นของบายศรีให้เหมาะสมแก่การถวายเจ้านายในชั้นต่างๆ และบุคคลทั่วไป โดยทรงสอนไว้ให้แก่พระนัดดา คือเจ้าอุ่นเรือน ณ เชียงใหม่ สำหรับดอกไม้สดทรงสอนข้าหลวงในวังให้ร้อยมาล้ย จัดพุ่ม ร้อยตาข่าย เย็บแบบ จัดกระเช้าดอกไม้ ทรงปลูกดอกพุทธชาด กุหลาบมอญ แดงต้อย ดอกพุด จำปา ดอกรัก และบานไม่รู้โรยไว้ในสวนเพื่อการนี้โดยเฉพาะและได้ทรงจัดบายศรี 9 ชั้น เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี คราวที่เสด็จมณฑลพายัพปีพ.ศ.2469 ด้วย และยึดถือเป็นประเพณีสืบมา โดยมีระเบียบดังนี้

บายศรี 9 ชั้น สำหรับทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินี
บายศรี 7 ชั้น สำหรับเจ้านายชั้นสูง
บายศรี 5 ชั้น สำหรับเจ้านายชั้นกลาง
บายศรี 3 ชั้น สำหรับเจ้านาย หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ บายศรีธรรมดา สำหรับบุคคลทั่วไป

บรรณานุกรม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ดารารัศมี สายใยรักสองแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2562.

ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์