เมื่อ 132 ปีที่ผ่านมา วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2432 เจ้าจอมดารารัศมีประสูติพระธิดา 1 พระองค์ มีพระนามว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี (อ่านว่า วิ-มน-นาก-นะ-พี-สี) ซึ่งแปลความหมายได้ว่าผู้ประเสริฐไม่มีมลทินของเมืองเชียงใหม่ โดยข้าหลวงชาวเหนือเรียกขานกันว่าเสด็จเจ้าน้อย เมื่อประสูติพระธิดาแล้ว ทำให้เจ้าจอมดารารัศมีมีพระอิสริยยศที่สูงขึ้นตามโบราณราชประเพณี โดยทรงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าจอมมารดาดารารัศมี พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีทรงเป็นเจ้าหญิงน้อยแห่งล้านนา ทรงพระภูษาซิ่นตีนจก พระเกษาเกล้าประดับด้วยศิราภรณ์งดงาม อย่างพระมารดา กระทั่งพระธิดามีพระชนมายุได้ 3 ชันษาเศษ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 เสด็จเจ้าน้อยได้สิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้รากสาดน้อยหรือ ท้องร่วง(ปัจจุบันชื่อโรคไข้ไทฟอยด์) เป็นที่เศร้าโศกเสียใจแก่เจ้าดารารัศมีอย่างหาที่สุดมิได้ ต่อมาจึงได้มีศุภอักษรจากพระเจ้าอินทวิชยานนท์ถึงเจ้าดารารัศมี ความว่า “…..พ่อได้ทราบข่าวว่าพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี พระเจ้าลูกเธอของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับเจ้าน้อยได้ถึงกาลกิริยาสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนก่อน พ่อมีความเสียใจเป็นอย่างมากที่สุด เพราะว่าพระองค์เจ้าหญิงองค์นี้ เป็นหลานสุดที่รักของพ่อ ซึ่งพ่อรักเจ้าน้อยเพียงใด พ่อก็ย่อมรักพระองค์เจ้าหลานมากเท่านั้น…” หลังจากเสด็จเจ้าน้อยสิ้นพระชนม์ พระราชชายาฯก็ไม่ได้มีพระประสูติการพระโอรส-ธิดาอีกเลย
ภายหลังพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีสิ้นพระชนม์ ได้มีการเฉลิมพระนามขึ้นเป็นพระเจ้าน้องนางเธอพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี ในรัชกาลที่ 6 พระเจ้าพี่นางเธอพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี ในรัชกาลที่ 7 และพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีในรัชกาลที่ 8
รายการอ้างอิง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ดารารัศมี สายใยรักสองแผ่นดิน. พิมพ์ครั้งที่4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2562.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. เจ้าดารารัศมี ข้าพเจ้าขอน้อมลำรึกถึงพระเกีรติประวัติ. เชียงใหม่:บ.วิทอินดีไซน์ จำกัด,2557.
นงเยาว์ กาญจนจารี(ผู้เรียบเรียง).ดารารัศมี พระประวัติพระราชชายาเจ้าดารารัศมี(จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงานเฉลิมฉลองพระอนุสาวรีย์พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ณ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนค่ายดารารัศมี จังหวัดเชียงใหม่ 27 มกราคม 2533)
ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์