96 ปีก่อน ปลายเดือนพฤศจิกายน 2468 เป็นช่วงเวลาที่สุดแห่งพระชนมชีพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระประชวรทรุดหนัก พร้อมกับความหวังที่จะทรงมีพระทายาทจากพระครรภ์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ซึ่งในที่สุดได้มีพระประสูติกาลเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2468 สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ได้ทรงพบพระราชธิดาเพียงไม่นานนัก ก่อนที่จะเสด็จสวรรคตในวันถัดมา แต่สายสัมพันธ์ที่พระบรมชนกนาถและพระราชธิดามีนั้นแนบแน่นและยาวนาน ผ่านทางพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงฝากไว้กับแผ่นดิน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันการศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานกำเนิด และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้น ดังนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้ทรงเป็นพระราชธิดาแต่เพียงพระองค์เดียว จึงทรงผูกพันกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอย่างยิ่ง ทรงเอ่ยถึงอยู่เสมอว่า “มหาวิทยาลัยของทูลกระหม่อมปู่และทูลกระหม่อมก๊ะ” (คือ ทูลกระหม่อมเพคะ ตามที่ทรงเอ่ยถึง)
พระกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีหลายวาระ ดังเช่น เสด็จมาทอดพระเนตรการแสดงเฉลิมฉลอง 50 ปีแห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันที่ 26 มีนาคม 2510 การเสด็จมาทรงบำเพ็ญพระกุศลทักษิณานุประทานในวันสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2520 ทรงเปิดพระบรมรูปสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ที่ประดิษฐาน ณ อาคารมหาธีรราชานุสรณ์ ที่ได้พระราชทานทุนในการก่อสร้าง เสด็จในโอกาสที่มหาวิทยาลัยจัดงานฉลองพระชนมายุ 6 รอบเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2540 แม้แต่ช่วงปลายพระชนมชีพ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรศูนย์เพชรรัตนนิติทรัพยากร ที่พระราชทานทุนสร้างไว้ในคณะนิติศาสตร์ หรือทุนการศึกษาจุฬาฯ เพชรรัตนฯ ที่ทรงก่อตั้งไว้ในงานวิชาการของมหาวิทยาลัย
สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีมติทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าเมื่อครั้งนั้น เล่าว่า เมื่อผู้แทนจุฬาฯ ได้ทูลเกล้าถวายครุยดุษฎีบัณฑิตแล้ว ทรงถือไว้ในพระหัตถ์ ทอดพระเนตรอยู่พักหนึ่งด้วยความชื่นพระทัย ที่ทรงได้รับการถวายพระเกียรติจากมหาวิทยาลัยที่ทรงผูกพันธ์ยิ่ง แล้วจึงเสด็จไปทรงฉลองพระองค์ครุยต่อไป ต่อมาวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 ได้ทูลเกล้าฯ ถวายศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์อีกวาระหนึ่ง
ทั้งนี้ พระกรุณาธิคุณต่อหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังคงเป็นที่ประทับใจอยู่เสมอ เมื่อครั้งเสด็จมาทรงเปิดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ 84 ปีแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 23 มีนาคม 2544 ณ หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์
เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สนองพระกรุณาด้วยประการต่างๆ อาทิ ถวายน้ำสรงพระศพ ณ ศาลาสหทัยสมาคม เมื่อประดิษฐานพระศพที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแล้ว คณาจารย์ นิสิต นิสิตเก่า ต่างหมุนเวียนกันไปถวายบังคม เฝ้าพระศพ และร่วมในการพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมตลอดระยะเวลาการบำเพ็ญพระราชกุศล ในโอกาสครบ 50 วัน และ 100 วันแห่งการสิ้นพระชนม์ วงดนตรีสากลสโมสรนิสิตฯ ( CU Band) เข้าไปแสดงถวายดังเช่นที่เคยไปแสดงเมื่อคราววันประสูติที่วังรื่นฤดี ถึงการพระราชทานเพลิงพระศพ คณาจารย์และนิสิตได้ร่วมในริ้วกระบวนเชิญพระโกศ และถวายพระเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง วง CU Band ได้บรรเลงเป็นมหรสพสมโภชจนถึงรุ่งเช้า
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall