พระมงกุฎเกล้าฯ กับจุฬาฯ
“…ความเจริญอันนี้เปรียบเหมือนพืชน์พรรณไม้ ซึ่งเพาะปลูกโตขึ้นแล้วมีผลแล้ว พรรณไม้นั้นมีแต่จะร่วงโรยไปในที่สุดก็จะเหี่ยวแห้งไม่มีเกิดอีก, หรือถึงแม้ตามธรรมชาติจะเกิดได้ นกกาเก็บเมล็ดไปเที่ยวโปรยตกกับดินเกิดขึ้นเอง ก็สู้คนเราเพาะปลูกขึ้นไม่ได้ ข้อนี้เปนข้ออุปมาฉันใด การเพาะคนก็เหมือนกันฉันนั้น; คนเราโดยธรรมชาติก็เกิดขึ้นเอง, ก็มีขึ้นเอง, แต่เกิดขึ้นเปนคนป่าจะมีประโยชน์อะไร ?
ความตอนหนึ่งพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่นักเรียนฝึกหัดผู้กำกับลูกเสือ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2459 ก่อนการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประมาณ 4 เดือน โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงตั้งขึ้นเพื่อเริ่มต้นพัฒนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยนั้น กำลังเดินหน้าเตรียมความพร้อมในทุกด้าน การดำเนินงานที่มีทั้งเสียงสนับสนุน และคัดค้านไปพร้อมกันนั้น บังเกิดเป็นประโยชน์แก่ชาติไทยมากว่าร้อยปี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ ทั้งจาก The Royal Military Academy Sandhurst (RMAS or RMA Sandhurst) และ Christ Church College, University of Oxford ทั้งประสบการณ์ที่ทรงได้พบจากการเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนราชสำนัก และประเทศต่างๆ ในยุโรปและอเมริกา รวมถึงประเทศแหล่งอารยธรรมเช่นอียิปต์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นฐานข้อมูลอันสำคัญที่ทำให้สายพระเนตร และพระราชดำรินั้นยาวไกลไปถึงอนาคต จึงทรงมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่ความเจริญทัดเทียมอารยประเทศ อย่างเหมาะสมและยั่งยืนบนรากฐานของเราเอง ด้วยการพัฒนาฟันเฟืองที่สำคัญที่สุดของชาติ คือประชากรของพระองค์ให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น เพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาประเทศ ทั้งในห้วงเวลาของพระองค์และภายหน้าได้
เมื่อทรงรับราชสมบัติในพุทธศักราช 2453 ได้ทรงยกโรงเรียนมหาดเล็กที่ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 5 ขึ้นเป็น “โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รวมโรงเรียนต่างๆ อาทิ ยันตรศึกษา ราชแพทยาลัย เข้าไว้ด้วยกัน พระราชทานเงินทุนจัดตั้ง จากเงินทุนที่ราษฎรเรี่ยรายถวายสมเด็จพระปิยมหาราชในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก กับพระราชทานที่ดินให้เป็นที่ตั้งและทำประโยชน์สำหรับกิจการมหาวิทยาลัย โดยกำหนดเช่าไม่จำกัดปี ในอัตราต่ำสุดลักษณะอย่างค่าธรรมเนียมอันเป็นผลผูกพันจากการใช้ที่ดินผืนนี้มาแต่เดิม
แม้การดำเนินงานเพื่อสถาปนา “มหาวิทยาลัย” มีการคัดค้านโดยยกเหตุอุปสรรค และปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการจัดตั้งขึ้นมา หากแต่ด้วยพระบรมราโชบาย และการสนับสนุนของสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ที่ทรงมองการณ์ไกล และกล้าที่จะดัดสินพระราชหฤทัยเพื่อความเจริญต่อไปในอนาคต การดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาแห่งใหม่นี้จึงก้าวต่อไป เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้บันทึกไว้ถึงการเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับ “มหาวิทยาลัย” ว่า
“มีพระราชดำรัสถามฉันว่า จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเสียทีเดียวไม่ได้หรือ? จะได้เป็นตลาดวิชาให้คนเข้าใจถูกเสียทีเดียว…” พระราชดำรัสต่อไปนั้นว่า ‘นี่คือนิติธรรมของประเทศจัดใหม่ ซึ่งต้องตัดทางลัดเพื่อให้ถึงที่หมายทัน เขาจะไปมัวคอยให้ “ดิมานต์” เกิดเสียก่อนแล้วจึงขยับตัวตามอย่างไรได้? …เดินเถิดอย่าคอยเวลาเลย อย่างไรเสียเราก็ต้องการมหาวิทยาลัย ตั้งเสียเดี๋ยวนี้ทีเดียว จะได้เป็นตลาดวิชาของเมืองไทย ไม่เป็นแต่เพียงที่เพาะข้าราชการไว้ใช้’…” จากนั้น ในวันที่ 26 มีนาคม 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระบรมราชโองการประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในฐานะพระบรมราชูปถัมภกแห่งมหาวิทยาลัย ได้พระราชทานความช่วยเหลือแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสมอมา กล่าวพอสังเขปคือ พระราชทานตราพระจุลมงกุฎวางบนเบาะ ให้ใช้เป็นเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย ทรงกำหนดให้มีเครื่องหมายสำหรับผู้สำเร็จการศึกษา คือ เข็มบัณฑิต (เข็มวิทยฐานะในปัจจุบัน) และเสื้อครุยวิทยฐานะ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้เครื่องแบบนิสิต เช่นเดียวกันกับนักเรียนโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานทุนแก่นักเรียนที่เล่าเรียนดีเป็นนักเรียนในราชูปถัมภ์ ทรงกำหนดชื่อของคณะ และสาขาวิชาตามที่ขอพระบรมราชวินิจฉัย เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สถาปิตยกรรม เศรษฐะวิทยา พระราชทานหนังสือพระราชนิพนธ์แก่หอสมุดของมหาวิทยาลัย ที่สำคัญประการหนึ่ง คือพระราชทานพระบรมราชานุมัติในการเริ่มความร่วมมือพัฒนาทางวิชาการของมหาวิทยาลัยกับมูลนิธิรอกกีเฟลเลอร์
พระราชกรณียกิจอันเกี่ยวเนื่องกับมหาวิทยาลัยนี้ สอดคล้องกับแนวคิดในการจัดการมหาวิทยาลัยในอารยประเทศนั้น อาจกล่าวได้โดยสรุป 3 ประการ คือ จะต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ มีอิสระในการบริหารงาน และมีความมั่นคงในสถานภาพและการดำเนินกิจการ เป็นรากฐานอันสำคัญที่ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจริญก้าวหน้ามั่นคงตราบจนกระทั่งทุกวันนี้ ด้วยเริ่มต้นจากพระบรมราชปณิธาน และแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการสร้างพลเมืองที่มีความรู้ความสามารถเพื่อนำพาประเทศชาติสู่ความเจริญด้วยการศึกษาตราบจนปัจจุบัน
“ชาติทั้งปวงที่เจริญเขาจึงได้ถือว่าจะทำการสิ่งใดๆ ก็ตาม, ต้องเริ่มด้วยฝึกหัดคนไว้ให้สามารถทำการอย่างนั้นขึ้นมากๆ จึงจะได้…”
(พระบรมราโชวาทรัชกาลที่ 6 วันที่ 14 พฤศจิกายน 2459)
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall