เกิดเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2486 ที่บางยี่ขัน กรุงเทพมหานคร

การศึกษา

ด้านดนตรีไทย ได้เรียนกับครู อาจารย์หลายท่าน เริ่มจากการเรียนขิมกับคุณพ่อทิพวัน ฟักจำรูญ และคุณครูประจิตร อุทัยจันทร์ เรียนปี่พาทย์กับคุณครูหลวงบำรุง จิตรเจริญ(ธูป สาตรวิลัย) คุณครูพระประณีต วรศัพท์ (เขียน วรวาทิน) คุณครูประสิทธิ์ ถาวร คุณครูบาง หลวงสุนทร คุณครูสอน วงฆ้อง คุณครูเทียบ คงลายทอง คุณครูพริ้ง กาญจนผลิน คุณครูโองการ กลีบชื่น และคุณครูจิรัส อาจณรงค์ เรียนคีตศิลป์กับคุณครูท้วม ประสิทธิกุล คุณครูจิ้มลิ้ม กุลตัณฑ์ เรียนนาฏศิลป์กับท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี และคุณครูนิตยา จามรมาน ด้านวิชาการชั้นสูง ด้านทฤษฎี และการประพันธ์เพลง ได้เรียนกับคุณครูมนตรี ตราโมท ได้รับวุฒิทางการศึกษา ประกาศนียบัตรนาฏศิลปะชั้นสูง วิชาเอกปี่พาทย์ วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ประกาศนียบัตรการฝึกอบรมวิชา Ethnomusicology East – West Center, Hawai University ครุศาสตรบัณฑิต วิชาเอกภาษาไทย วิทยาลัยครูจันทรเกษม ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา และครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาพัฒนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การทำงาน

เริ่มรับราชการในตำแหน่งครูตรี วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2506 เป็นครูสอนดนตรี ปี่พาทย์ และครูสอนวิชาสามัญ ต่อมาได้เป็นหัวหน้าภาควิชาดุริยางค์ไทย และเข้าสู่ตำแหน่งบริหารเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป 3 แห่ง ผู้อำนวยการกองศิลปศึกษา ผู้อำนวยการส่วนการแสดง ผู้อำนวยการสถาบันนาฏดุริยางคศิลป์ รองอธิบดีกรมศิลปากร และอธิบดีกรมศิลปากร ตามลำดับ จนเกษียณอายุราชการ เมื่อ พ.ศ. 2546 จากความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ท่านได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในหน่วยงานและสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น กรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สถาบันอาศรมศิลป์ และตำแหน่งที่สำคัญคือ ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สืบต่อจากอาจารย์ประสิทธิ์ ถาวร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2545 เป็นต้นมา ในปีพุทธศักราช 2557 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย)

ผลงานสำคัญและเกียรติประวัติ

ได้รับการครอบให้เป็นผู้อ่านโองการไหว้ครูดนตรีจาก คุณครูมนตรี ตราโมท และคุณครูประสิทธิ์ ถาวร ได้รับการครอบให้เป็นผู้อ่านโองการไหว้ครูนาฏศิลป์จากคุณครูมนตรี ตราโมท และได้เป็นผู้อ่านโองการไหว้ครูดนตรี และครอบให้แก่นักเรียน นักศึกษาของวิทยาลัยนาฏศิลปทุกแห่ง กองดุริยางค์กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ บ้านปลายเนิน (วังคลองเตย) สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรมดนตรีไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ ท่านยังได้ใช้ความรู้ความสามารถทางดนตรีโดยการเป็นครูดนตรีไทยประจำวังคลองเตย งานที่ภาคภูมิใจที่สุดคือ ได้ถวายงานการสอนดนตรีไทย แด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ พ.ศ. 2528 – ปัจจุบัน รวมทั้งถวายงานการเรียบเรียง และการแต่งเพลงประกอบบทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และบรรจุเพลงประกอบบทพระราชนิพนธ์ราชสดุดีพระปิยมหาราช เนื่องในวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจัดให้มีการขับร้อง และบรรเลงโดยนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ ณ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ทุกวันที่ 23 ตุลาคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2538 – ปัจจุบัน

ผลงานประพันธ์เพลง

  • โหมโรงศรีกาฬสินธุ์
  • เพลงประจำสถาบันวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์
  • โหมโรงรุ่งอรุณ
  • โหมโรงรัตนสังคีต
  • โหมโรงพิกุลเงิน
  • ระบำดินสอพอง
  • ระบำเบญจรงค์
  • ระบำพัสตราภรณ์เรืองวิลาศ
  • ระบำไทย – สวิสมิตรไมตรี
  • ระบำผ้าไทย
  • พันธ์ไม้ชายหาดพระราชนิเวศน์ (มฤคทายวัน)
  • ระบำอาซิ้ม
  • ตับนางซิน ตอนทำครัว
  • เกษตร กษัตริย์
  • ถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
  • หม่องปอกกะเยี่ยง
  • ใฝ่เรียน จำเริญ (เพลงสุดท้ายในบทพระราชนิพนธ์ ไผ่รวกกับทานตะวันผู้ยโส)
  • หกสิบพรรษาราชสุดาภิวันทน์
  • นเรนทราทิตย์: วีรกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรม
  • เพลงภาษาพาสนุก
  • เพลงรูปสลักหินวีรบุรุษโบราณ
  • ผลงานทางวิชาการ

งานวิจัย

อนาคตภาพของวิทยาลัยนาฏศิลป (วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต ที่วางแนวทางให้มีการเปิดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา เป็นต้นกำเนิด สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ในเวลาต่อมา)

บทความ

  • เขียนบทความลงสูจิบัตร ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน ดังนี้
    • คำอธิบายเพลงหน้าพาทย์เพลง ตระพระปรคนธรรพ(2547), ตระสันนิบาต(2548), พราหมณ์ออก(2549), พราหมณ์เข้า(2550), โหมโรงพิธี(2552), ตระบองกัน(2553), ตระเชิญ(2554), ตระเทวาประสิทธิ์(2555), เหาะ(2556), โคมเวียน(2557), เชิดฉิ่ง-ศรทะนง(2559), พระเจ้าลอยถาด(2561), กราวนอก(2562)
  • เขียนคำอธิบายเพลงประกอบบทพระราชนิพนธ์ใน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ลงสูจิบัตร ปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ และบทความในสูจิบัตรพิธีไหว้ครูดนตรีไทย ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้
  • การทำเพลงประกอบบทพระราชนิพนธ์เรื่อง เกษตร กษัตริย์(2554), แนวคิดในการทำเพลงประกอบบทพระราชนิพนธ์ ถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ(2555), การใช้วงดนตรีและเพลงดนตรีประกอบ เรื่อง หม่องปอกกะเยี่ยง(2556), ความคิดในการบรรจุเพลงประกอบ บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง ไผ่รวกกับทานตะวันผู้ยโส(2557), ความคิดในการประพันธ์บทถวายชัยมงคล “หกสิบพรรษาราชสุดาภิวันทน์”(2558), ความคิดในการบรรจุเพลงประกอบบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง นเรนทราทิตย์: วีรกษัตริย์ผู้ทรงคุณธรรม(2559), ความคิดในการบรรจุเพลงประกอบบทพระราชนิพนธ์ “เพลงภาษาพาสนุก”(2561), การทำเพลงประกอบบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง รูปสลักหินวีรบุรุษโบราณ(2562), ความเข้าใจในการคำนับครู การบูชาครู การไหว้ครู การครอบครู และการรับมอบ, นักดนตรีไทยในอุดมคติ และเพลงหน้าพาทย์ในทางดนตรีที่ใช้กับพิธีกรรม
  • นอกจากนี้ยังเขียนบทความวิชาการในหนังสือวิศิษฏศิลปิน เรื่อง “นานาสังคีตชั้นเชิงชาญ  พระปรีชาสามารถด้านดนตรีและนาฏศิลป์” ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม  พ.ศ. 2549

ในระหว่างรับราชการ ท่านได้รับการไว้วางใจให้ปฏิบัติงานสำคัญๆ อาทิ การก่อตั้งวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ การก่อตั้งวิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี วางแผน จัดทำโครงการ ขยายวิทยาลัยนาฏศิลป (กรุงเทพ) และยังเป็นกรรมการจัดทำพระราชบัญญัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เพื่อพัฒนาการศึกษานาฏศิลป์ ดนตรี และช่างศิลป์ ให้ทัดเทียมกับการอุดมศึกษาในระดับประเทศและต่างประเทศ ทั้งยังเป็นนักดนตรีและหัวหน้าคณะนาฏศิลป์ไทยไปเผยแพร่ยังต่างประเทศอีกหลายประเทศด้วย

————————————————

ที่มา คัดและปรับจาก
  1. หนังสือ พิธีไหว้ครู และพิธีสืบทอดผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขน – ละคร ครูดนตรี ครูช่างของกรมศิลปากร
  2. จากข้อมูลสัมภาษณ์โครงการบันทึกข้อมูล ร้อยคนดนตรี 100 ปี จุฬาฯ
  3. ข้อมูลบางส่วนปรับและเพิ่มเติมข้อมูลที่ได้รับจาก อาจารย์ ดร.สิริชัยชาญ และข้อมูลจากสูจิบัตรกิจกรรมดนตรีไทย ของหน่วยงาน สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม