ฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
Division of Museum and Art Gallery
ฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
ฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการบริหารดูแลพิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย หอประวัติ เรือนไทยจุฬาฯ หอศิลป์จามจุรี นิทรรศสถาน การรวบรวม ศึกษา จัดเก็บและบำรุงรักษาวัตถุและสิ่งของทรงคุณค่าต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย การจัดแสดงผลงานศิลปะและศิลปกรรมสะสมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และการประสานงานกับพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัย ตลอดจนการเผยแพร่องค์ความรู้ ศิลปะและสุนทรียศาสตร์แก่นิสิต ประชาคม และสังคม รวมทั้งการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย
พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย
พิพิธภัณฑ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และเฉลิมฉลองในวาระแห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2559 เป็นสถานที่รวบรวมข้อมูลและสิ่งของจัดแสดง ที่สะท้อนให้เห็นถึงสถาบันอุดมศึกษาที่เป็น “ปัญญาแห่งแผ่นดิน” ผู้เข้าชมจะได้รับรู้ เข้าใจ และมีความภาคภูมิใจในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตระหนักถึงความเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำของไทย ซึ่งเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้และศาสตร์แขนงต่างๆ เป็นแหล่งรวมของคณาจารย์ นักวิชาการ และนิสิตที่มีคุณภาพ มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
เรือนไทยจุฬาฯ
มหาวิทยาลัยอนุมัติการจัดสร้างเรือนไทยจุฬาฯ ในโอกาสครบรอบ 70 ปี แห่งการสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางวัฒนธรรมไทยร่วมกับชุมชนโดยรอบ แต่เดิมเคยใช้เป็นสถานที่จัดการแสดงดนตรีไทยของวงจุฬาวาทิต และเป็นสำนักงานของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาฯ ปัจจุบัน เปิดใช้สำหรับงานสำคัญและโอกาสพิเศษ อาทิ พิธีไหว้ครูดนตรีไทย งานเลี้ยงรับรองอาคันตุกะของมหาวิทยาลัย เป็นต้น
หอศิลป์จามจุรี
หอศิลป์จามจุรี เป็นพื้นที่ไม่แสวงหากำไร ที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา คณาจารย์ และศิลปินทุกระดับ ได้มีโอกาสจัดแสดงและเผยแพร่ผลงานศิลปะ ตั้งอยู่บริเวณชั้น 1 และ 2 ของอาคารจามจุรี 8 มีพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ จำนวน 3 ห้อง ปัจจุบันมีนิทรรศการหมุนเวียนให้ชมตลอดทั้งปีกว่า 30 นิทรรศการ
นิทรรศสถาน
นิทรรศสถาน เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนและผลงานศิลปะของศิลปินที่มีชื่อเสียง หรืองานแสดงของสถานเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ มีขนาด 346 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่บริเวณชั้น 1 อาคารศิลปวัฒนธรรม
โครงการรวบรวมผลงานศิลปกรรม
เมื่อประมาณ 30 ปีเศษที่ผ่านมา ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.เกษม สุวรรณกุล ยังเป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มเห็นความสำคัญของการจัดการและรวบรวมงานศิลปกรรมที่มีคุณค่า โดยในระยะแรกนั้นกระทำกันไปตามโอกาสจะอำนวย และมักจะมอบหมายให้อาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านศิลปะไปเสาะหาและติดต่อกับศิลปิน งานในระยะแรกๆ มักจะเป็นภาพเขียนเป็นส่วนใหญ่ ครั้นถึง พ.ศ. 2527 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความดำริว่าในฐานะที่มหาวิทยาลัยมีพันธกิจทางด้านศิลปวัฒนธรรมควบคู่ไปกับงานด้านวิชาการ จึงควรส่งเสริมงานทางด้านศิลปกรรมและนำชุมชนสู่มหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง และต่อเนื่องกว่าที่เคยกระทำ จึงจัดให้มีโครงการรวบรวมผลงานศิลปกรรม และมอบหมายให้ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินงานต่อมา
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการรวบรวมผลงานศิลปกรรมของศิลปินไทยในปัจจุบัน เพื่อเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมการสร้างสรรค์ และเผยแพร่ผลงานของศิลปินทั้งหลายด้วย การสรรหางานศิลปกรรม กระทำเป็น 2 แนว คือสรรหาจากงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เช่น ถวัลย์ ดัชนี, อังคาร กัลป์ยาณพงศ์, อวบ สาณะเสน, ประเทือง เอมเจริญ, ทวี นันทขว้าง, ดำรง วงศ์อุปราช ฯลฯ ผลงานเหล่านี้ในขณะนั้นยังราคาไม่สูงนัก ครั้นต่อมาโครงการในลักษณะเดียวกันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแพร่หลายไปมากขึ้น ภาพเขียนของศิลปินเหล่านี้ก็มีราคาสูงอย่างรวดเร็ว การดำเนินงานในลักษณะนี้กระทำต่อเนื่องมานับถึงขณะนี้ 30 กว่าปีแล้ว ศิลปินบางท่านที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ผลงานมานั้น บางคนเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในระดับโลกก็มี เช่น ประวัติ เล้าเจริญ, กมล ทัศนาญชลี เป็นต้น นอกจากนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังสามารถรวบรวมผลงานของ เหม เวชกร ซึ่งยกย่องกันว่าเป็นศิลปินชั้นครูได้อีกจำนวนมากพอสมควร นับว่าเป็นการรวบรวมผลงานตลอดชีวิตของครูเหม เวชกร ก็ว่าได้ และเหนือกว่านั้นคือเรียกได้ว่า ผลงานของครูเหม เวชกร ที่มีอยู่เป็นการรวบรวมผลงานของศิลปินไทยเฉพาะบุคคลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศทีเดียว
การส่งเสริมศิลปินอีกแนวหนึ่ง กระทำในลักษณะ “แมวมอง” กล่าวคือไปเสาะแสวงหาและส่งเสริมศิลปินใหม่ๆ ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักหรือยังเป็นนักศึกษาอยู่แต่มีฝีมือดี หลังจากที่มหาวิทยาลัยซื้อหาภาพเขียนของศิลปินเหล่านั้นมาแล้ว ก็ทำให้ศิลปินมีกำลังใจและผลิตผลงานมากขึ้น
ถ้าจะนับเฉพาะงานภาพเขียนและภาพพิมพ์แล้วอาจกล่าวได้ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการรวบรวมภาพผลงานศิลปกรรมของศิลปินที่สำคัญๆ ของเมืองไทยไว้ได้มากที่สุดหน่วยงานหนึ่ง
นอกจากนั้นงานที่มีอยู่มิใช่คำนึงถึงแต่ปริมาณและคุณภาพเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงวิวัฒนาการของงานศิลปกรรมในประเทศไทยตั้งแต่ยุคเริ่มจะเฟื่องฟูมาจนถึงปัจจุบันที่สมบูรณ์ที่สุด งานศิลปกรรมที่รวบรวมไว้ นอกจากภาพเขียน ภาพพิมพ์ สื่อผสม ที่ได้กล่าวถึงแล้วยังมีงานประเภทอื่นๆ อีกหลายประเภท เช่น ประติมากรรม ภาพถ่าย เอกสารสิ่งพิมพ์ในสาขาต่างๆ เช่น ศิลปกรรม นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ เป็นต้น
ผลงานศิลปกรรมต่างๆ ได้รับการนำไปติดตั้งในอาหารและสถานที่ต่างๆ ของมหาวิทยาลัยตามความเหมาะสม มีการจัดแสดงเป็นนิทรรศการหรือกิจกรรมรูปลักษณ์อื่นเป็นครั้งคราว บางครั้งก็จัดเผยแพร่ทางสื่อมวลชน หรือจัดพิมพ์เผยแพร่บ้างเท่าที่โอกาสจะอำนวยและสมควร การดำเนินงานในลักษณะต่างๆ เหล่านั้นนอกจากจะส่งเสริมงานศิลปกรรมของชาติแล้ว ยังสร้างบรรยากาศทางศิลปะขึ้นภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนสามารถปลูกฝังสุนทรียศิลป์เข้าไปภายในจิตใจของผู้ที่อยู่ในชุมชนนี้อย่างกว้างขวางอีกด้วย
รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมงานศิลปวัฒนธรรมตามนโยบายและยุทธศาสตร์ การสร้าง รวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมดนตรีและนาฏศิลป์ ทั้งไทยและตะวันตก และสิ่งทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม เช่น การจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์บันทึกจุฬาฯ หนังสือที่ระลึกกฐินพระราชทานฉบับพิเศษ รวมทั้งดูแลบริหารจัดการ วงดนตรีไทยและวงซิมโฟนีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนหอสมุดดนตรีไทยในพระราชดำริฯ หอแสดงดนตรี โดยจัดรายการ “ฟังดนตรีที่จุฬาฯ” ทุกวันศุกร์แรกของเดือน และกิจกรรมการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์จากเครือข่ายความร่วมมือในระดับชาติและนานาชาติเป็นประจำตลอดทั้งปี
บุคลากรฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
นางสาวหรรษา คำล้วน
ผู้อำนวยการฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
0-2218-3646
chamchuriartgallery@gmail.com, chulamuseum@gmail.com
นางสาวพิมพ์พิศา กำเนิดจิรมณี
ผู้อำนวยการหอประวัติ
0-2218-7098
memorialhall.cu@gmail.com
นางสาวรัชฎากรณ์ กล้าเกิด
ภัณฑารักษ์
0-2218-3709
chulamuseum@gmail.com
นางสาวนพวรรณ บุตราภรณ์
เจ้าหน้าที่บริการการศึกษา (นักประวัติศาสตร์)
0-2218-3624
chulamuseum@gmail.com
นายประเสริฐ แป้นสุข
เจ้าหน้าที่สำนักงาน (ธุรการ)
0-2218-3645
chulamuseum@gmail.com
นางวลัยพร โกศัลวัฒน์
นักเอกสารสนเทศ
0-2218-4595
valaiporn.k@chula.ac.th
นางภัทรานิษฐ์ สิทธิพันธ์ธนะ
ผู้ปฏิบัติการบริหาร
0-2218-7099
adchara.s@chula.ac.th
นางแววดาว เสาวลักษณ์
ผู้ปฏิบัติการบริหาร
0-2218-7097
swaewdow06@gmail.com
นางสาวศศิพิมพ์ จิรศักดิ์
บรรณารักษ์
0-2218-7098
sasipim.J@chula.ac.th
นางสาวนัฏกร เสาวลักษณ์
เจ้าหน้าที่บริการทั่วไป
0-2218-7099
ติดต่อหน่วยงาน
ฝ่ายพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์
สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
254 ถนนพญาไท แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 11130