พิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2563 ณ วัดศาลาปูน จ.พระนครศรีอยุธยา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีโครงการบันทึกและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมหลายโครงการ ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 นี้ มีการดำเนินโครงการดังกล่าวผ่านงานกฐินพระราชทานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทอดถวาย ณ วัดศาลาปูนวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และมีการปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง ชนิดวรวิหารที่มีความสำคัญวัดหนึ่ง
เพื่อเป็นการบันทึกและอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรม พุทธศิลป์ และประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม ร่วมกับศูนย์บริหารกลาง และศูนย์รูปธรรมศึกษาฯ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงได้มีการจัดทำหนังสือเพื่อบันทึกสิ่งทรงคุณค่าและองค์ความรู้ดังกล่าว จำนวน 2 เล่ม ดังนี้
1. หนังสือที่ระลึก (เล่มเล็ก) ขนาด A5 จำนวน 170 หน้า เนื้อหาประกอบด้วยข้อมูลประวัติความเป็นมาของวัดศาลาปูน เรื่องราวทางพุทธศิลปกรรมภายในวัด เช่น พระอุโบสถ จิตรกรรมฝาผนัง พระเจดีย์ต่างๆ รอยพระพุทธบาท รวมทั้งศิลปวัตถุภายในวัด เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าว เขียนและวิเคราะห์ข้อมูลโดย รองศาสตราจารย์ ดร.จีรวรรณ แสงเพ็ชร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านงานพุทธศิลปกรรม จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ในเล่มยังได้นำหนังสือเก่าหายากมาจัดพิมพ์ซ้ำเพื่อต่ออายุหนังสือทรงคุณค่าให้แพร่หลาย ในครั้งนี้คือหนังสือชื่อ “อธิบายเบ็ดเตล็ดในเรื่องพงศาวดารสยาม” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงเดชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2469 โดยเป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาในด้านต่างๆ เช่น การเมือง กฎหมาย การต่างประเทศ ที่ล้วนน่าสนใจอย่างยิ่ง การเผยแพร่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมดั้งเดิม มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อความเจริญก้าวหน้าในปัจจุบัน หนังสือที่ระลึกนี้จัดพิมพ์จำนวน 1,000 เล่ม แจกจ่ายผู้ร่วมงานและผู้สนใจ
2. หนังสือที่ระลึก (เล่มใหญ่) ขนาด A4 จำนวน 135 หน้า โดยมีคณะบรรณาธิการที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละสาขาร่วมดำเนินการ เช่น ด้านการถ่ายภาพ ด้านประวัติศาสตร์ ด้านสถาปัตยกรรมไทย ด้านการออกแบบ หนังสือดังกล่าวจึงมีข้อมูลองค์ความรู้รอบด้านของวัดศาลาปูน และชุมชน รวมทั้งบริบทที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด จึงเป็นหนังสือทรงคุณค่าที่สำคัญต่องานศิลปวัฒนธรรมของชาติเล่มหนึ่ง โดยได้จัดพิมพ์จำนวนทั้งสิ้น 700 เล่ม เพื่อเผยแพร่แก่ผู้รับเชิญ ส่งมอบแก่วัดศาลาปูน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด โรงเรียน และห้องสมุดต่างๆ ไว้เป็นประโยชน์ต่อไป
หนังสือทั้งสองเล่มนี้ นอกจากจะจัดพิมพ์รวม 1,700 เล่มแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้มีการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบดิจิตอล ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้กว้างขวางขึ้น สำหรับผู้สนใจศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม พุทธศิลปกรรม สมัยอยุธยา สืบไปอีกด้วย