๑๐๐ เรื่องจามจุรี ๑๐๐ ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในสมัยสร้างชาติ
พ.ศ.๒๔๗๙ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้ารับตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๘๑ เมื่อพันเอกหลวงพิบูลสงครามได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ยังคงดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อไป การที่บุคคลในคณะรัฐบาลเข้ารับตำแหน่งสำคัญในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้นำคณะราษฎรได้ให้ความสำคัญแก่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างมาก
รัฐบาลภายใต้การนำของพันเอกหลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเวลาต่อมา ได้ประกาศนโยบายสร้างชาติเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศ ภายใต้ลัทธิผู้นำนิยมและลัทธิชาตินิยม เน้นการสร้างเอกลักษณ์ของคนไทย ทั้งนี้การศึกษาเป็นหนทางหนึ่งของกระบวนการที่จะทำให้นโยบายดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติด้วย ดังนั้นการจัดการศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระยะนี้จึงมีการขยายตัวของศาสตร์สาขาต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ของชาติเป็นสำคัญ เช่น ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เป็นต้น