“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้…”
ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ในการประชุมทางวิชาการ ชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2505 หรือในวันนี้เมื่อ 60 ปีที่แล้ว
การประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์นั้น จัดขึนเป็นปกติทุกวันอาทิตย์ต้นเดือน และวันอาทิตย์ปลายเดือน เพื่อปรึกษาหารือในปัญหาเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอนภาษาไทย ด้วยความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะการบัญญัติศัพท์ใหม่เพื่อใช้แทนภาษาต่างประเทศ ที่ยังไม่ตรงความหมายเดิม หรือการคิดค้นคำใหม่ขึ้นใช้ จึงมีพระราชปรารภแก่หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ประธานชุมนุมภาษาไทยเกี่ยวกับ “ปัญหาการใช้คำไทย”เพื่อให้ชุมนุมภาษาไทยได้ช่วยกันเสนอแนวทางแก้ไข เมื่อได้รับพระราชปรารภดังกล่าว จึงเห็นควรที่จะเชิญเสด็จพระราชดำเนินมาทรงแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่องนี้ในที่ประชุม และในที่สุดทรงร่วมเป็นผู้อภิปรายด้วยผู้หนึ่งในการประชุมครั้งนั้น
ในวันนั้น ที่ประชุมมีผู้อภิปรายซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านภาษา ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ นายสุกิจ นิมมานเหมินทร์ หม่อมหลวงบุญเหลือ เทพยสุวรรณ และศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล รวมถึงมีผู้ร่วมการประชุมที่สนใจทางด้านภาษา ดังเช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายแพทย์อวย เกตุสิงห์
การเสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมการประชุมในครั้งนั้นเป็นการส่วนพระองค์โดยแท้ ได้พระราชทานพระราชกระแสแสดงพระราชดำริ และความห่วงใยในการใช้ภาษาไทยหลายประการ ดังเช่นตอนหนึ่งจากพระราชดำรัสที่เชิญมาข้างต้น นอกจากนี้ ยังมีพระราชปรารภเกี่ยวกับการบัญญัติศัพท์ซึ่งมีมากในเวลานั้น รวมไปถึงการอนุรักษ์มรดกทางภาษา เช่น ราชาศัพท์ รวมถึงภาษาถิ่นของไทย เพื่อเป็นหลักฐานของวิวัฒนาการทางภาษาที่ไม่เพียงแต่มีภาษาภาคกลางเท่านั้น หากแต่ภาษาพื้นถิ่นก็สำคัญเช่นเดียวกัน
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สนองพระราชดำริในการอนุรักษ์และสืบสานการใช้ภาษาไทยสืบต่อมา โดยจัดตั้ง “คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย สำนักงานมหาวิทยาลัย” เพื่อดำเนินการส่งเสริมการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมภาษา คณะกรรมการชุดนี้ได้เสนอต่อรัฐบาลให้กำหนดวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับการเสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมการประชุม “ปัญหาการใช้คำไทย” เมื่อพุทธศักราช 2505 เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2542 กำหนด “วันภาษาไทยแห่งชาติ” เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ทั้งร่วมใจกันทำนุบำรุงและอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสมบัติทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
สามารถอ่านบันทึกการเสด็จพระราชดำเนิน พระราชทานกระแสพระราชดำริ เรื่อง ปัญหาการใช้คำไทย ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 29 กรกฏาคม 2505 ได้ตาม QR Code ในภาพ
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall