26 สิงหาคม 2566 เป็นวาระครบ 150 ปีนับแต่วันประสูติของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราชนารีแห่งเชียงใหม่ ผู้ทรงมีพระคุณูปการต่อการผสานล้านนาเข้ากับสยาม ทั้งทรงส่งเสริม และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา ให้ดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน หลายสิ่งยังคงเป็นพยานถึงพระภารกิจที่พระราชชายาทรงบำเพ็ญแก่ดินแดนล้านนา เช่น พระตำหนักดาราภิรมย์ ที่ประทับเมื่อเสด็จกลับเชียงใหม่ ภายหลังที่สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสวรรคต สถานที่แห่งนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อนุรักษ์ไว้เป็นแหล่งรวบรวมเรื่องราวอันเนื่องด้วยพระราชชายา เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงคุณค่านี้ไว้เป็นพยาน ถึงราชนารีผู้เปี่ยมด้วยพระปรีชาสามารถ และพระวิสัยทัศน์ ซึ่งผูกพันหัวเมืองฝ่ายเหนือไว้กับราชอาณาจักรไทยอย่างสง่าสมบูรณ์

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 26 สิงหาคม 2416 ณ คุ้มหลวง กลางนครเชียงใหม่ เป็นพระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่ และแม่เจ้าทิพเกสร (เทพไกรสร) ทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากพระชนกชนนี เมื่อเจริญพระชันษาได้ 11 ปี พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เสด็จมากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยพระชายา และเจ้าดารารัศมี ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โอกาสนั้นได้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า เมื่อกลับถึงเชียงใหม่จะประกอบพิธีโสกันต์เจ้าดารารัศมี ซึ่งไว้เกษาจุกต่างกับธรรมเนียมฝ่ายเหนือทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทพประชุน (พุ่ม ศรีไชยันต์) ข้าหลวงใหญ่เมืองนครเชียงใหม่ จัดงานพิธีโสกันต์ (โกนจุก) แก่เจ้าดารารัศมี ทั้งได้ทรงส่งพระกุณฑลไปยังพระยาราชสัมภารากร (เลื่อน สุรนันท์) เพื่อเชิญไปพระราชทานเป็นของขวัญด้วย

ถึงพุทธศักราช 2429 เจ้าดารารัศมีตามเสด็จพระบิดา ที่เสด็จมาร่วมพระราชพิธีลงสรงและเฉลิมพระนามสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร คราวนี้เอง เจ้าดารารัศมีได้ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายในในฐานะเจ้าจอม เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2429 เจ้าดารารัศมีอยู่พระราชอุปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ โดยประทับที่พระที่นั่งดํารงสวัสดิ์อนัญวงศ์ ในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายหลังได้รับพระบรมราชานุญาตสร้างพระตำหนักขึ้น โดยใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เจ้าจอมมารดาเจ้าดารารัศมี มีพระราชธิดา 1 องค์ คือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี แต่ทรงเจริญพระชันษาเพียง 3 ปีเศษ ก็ประชวรสิ้นพระชนม์

เมื่อเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระเชษฐาต่างพระมารดา เสด็จมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรัชกาลที่ 5 เจ้าจอมมารดาดารารัศมีจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาลากลับไปเยี่ยมพระประยูรญาติเป็นครั้งแรก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระราชชายา” มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระอนุชิตชาญไชย ตอนหนึ่งได้ระบุถึงพระสถานะว่าเจ้าดารารัศมีอยู่ใน“ตำแหน่งบรรดาศักดิ์พระอรรคชายา”

ภายหลังที่สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จสวรรคต พุทธศักราช 2457 เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระเชษฐาต่างมารดา เดินทางมาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โอกาสนี้ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกลับไปประทับ ณ นครเชียงใหม่พร้อมกับเจ้าแก้วนวรัฐ เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงได้เสด็จกลับมาประทับนนครเชียงใหม่ ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ และสวนเจ้าสบาย จนสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคปัปผาสะพิการ (โรคปอด) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2476 ณ คุ้มรินแก้ว รวมสิริพระชันษาได้ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานน้ำสรงพระศพ พระโกศกุดั่นน้อยทรงพระศพ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้แทนพระองค์พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ วัดสวนดอก พระอัฐิส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่กู่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ อีกส่วนหนึ่งอัญเชิญไปบรรจุไว้ ณ สุสานหลวง วัดราชพิธสถิตมหาสีมาราม

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ