ช่วงพุทธศักราช 2540 พื้นที่ของพระตำหนักดาราภิรมย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถือกรรมสิทธิ์ ได้ใช้เพื่อประโยชน์ของทางราชการ อาทิ เป็นที่ตั้งของกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 โดยเฉพาะกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 ซึ่งได้ใช้พระตำหนักเป็นที่ทำการ เวลาต่อมา ได้ย้ายออกไปตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอสันทราย

ศาสตราจารย์ ดร.เทียนฉาย กีระนันท์ อธิการบดีในขณะนั้น ได้ขอให้ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย ผู้ช่วยอธิการบดีซึ่งเป็นชาวเชียงใหม่ ไปสืบข้อมูลการใช้งานพื้นที่ดังกล่าว ก่อนที่อธิการบดี รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดีที่ไปประชุมอธิการบดีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ เดินทางไปดูพื้นที่อย่างไม่เป็นทางการ จึงได้เห็นถึงสภาพของพระตำหนักและบริเวณโดยรอบ ที่ทรุดโทรมลงจากการใช้งานและตามกาลเวลา

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิจารณาถึงพระประวัติ พระภารกิจและพระจริยวัตรที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีได้ทรงปฏิบัติ จึงเห็นควรที่จะทำการค้นคว้ารวมรวม ให้ถ่องแท้และถูกต้องในทางวิชาการที่ลุ่มลึกและกว้างขวางในหลายสาขาวิชา เพื่อเผยแพร่ให้กว้างขวางตามบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จึงได้เริ่มดำเนินการบูรณะและอนุรักษ์พระตำหนักดาราภิรมย์ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากกรมตำรวจ จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้นำเสนอ “โครงการดาราภิรมย์” เพื่อให้สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพิจารณา ในการประชุมครั้งที่ 580 ซึ่งได้รับการอนุมัติและจัดสรรงบประมาณ การบูรณะพระตำหนักจึงเริ่มต้นขึ้น พร้อมกับการเตรียมการจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชชายา

การดำเนินงานนี้ได้รับพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทานพระวโรกาสให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ศาตราจารย์ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ รองศาสตราจารย์ธัชชัย ศุภผลศิริ ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต จุลาสัย รองศาสตราจารย์ศิรินันท์ ธนิตยวงศ์ รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สัจกุล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชูวิทย์ ยุระยง เข้าเฝ้าเพื่อถวายรายงานและขอประทานพระดำริเกี่ยวกับการบูรณะพระตำหนักดาราภิรมย์ และการนำวงซิมโฟนีออเคสตร้าแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแสดงที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อระดมทุนในการบูรณะ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541

รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สัจกุล บันทึกไว้ในบทความ “แสงรุ้งส่องสว่างกลางใจจุฬาฯ” ถึงการเข้าเฝ้าในครั้งนั้นว่า “หลังจาก ศาสตราจารย์ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ กราบทูลเสร็จสิ้นแล้ว ทุกสายตาของชาวจุฬาฯ จับจ้องไปที่พระองค์ แล้วก้มกราบพระบาทไปพร้อมๆ กัน เมื่อได้ยินพระสุรเสียงเบาๆ ว่า

“…ไป ไปช่วยกัน เพราะตอนทูลกระหม่อมพ่อประทับที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงดูแลทูลกระหม่อมพ่อเป็นอย่างดียิ่ง…”

กระแสพระดำรัสองค์นี้ ทำให้ผู้เข้าเฝ้าหลายคนน้ำตารื้นขึ้นมาทันที นั่นคือความกตัญญูที่พระองค์ทรงมีต่อพระราชชายา เจ้าดารารัศมี”

(ขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สัจกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูล)

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ