การดำเนินงานบูรณะและจัดทำพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์มีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ ด้วยกองทุนพระตำหนักดาราภิรมย์ในพระอุปถัมถ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รวมถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของคณาจารย์ที่รับหน้าที่จัดทำนิทรรศการ และจัดพิพิธภัณฑ์ ที่ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากเจ้านายฝ่ายเหนือ พ่อค้า ประชาชนชาวเชียงใหม่ นำสิ่งของซึ่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเคยทรงใช้ หรือเป็นสิ่งของร่วมสมัยมามอบให้เพื่อรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พิจารณาว่า สิ่งของที่เคยทรงใช้ และร่วมสมัยเหล่านี้ ควรจะทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบรมวงศ์เพื่อเป็นหลักฐานทางการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ต่อไปด้วย ในเรื่องนี้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประทานพระดำริว่าควรทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาทแล้วทรงรับเชิญ ในการทรงรับสิ่งของเครื่องใช้อันเกี่ยวเนื่องกับพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ณ คุ้มรินแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ อันเป็นที่ประทับสุดท้ายของพระราชชายา

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2542 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงรับสิ่งของเครื่องใช้อันเกี่ยวเนื่องกับพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ณ คุ้มรินแก้ว โดยมี ม.ร.ว.พัฒนฉัตร รพีพัฒน์ ผู้แทนกลุ่มเจ้านายฝ่ายเหนือ พ่อค้า ประชาชนชาวเชียงใหม่ ทูลเกล้าฯ ถวายเอกสารเจตจำนงการบริจาคสิ่งของเพื่อพระราชทานแก่พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ และพระราชทานของที่ระลึก ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนั้นเอง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการบูรณะพระตำหนักด้วย

การบูรณะและจัดแสดงนิทรรศการพระราชชายา ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ วันที่ 9 ธันวาคม 2542 ซึ่งตรงกับวันสิ้นพระชนม์ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ครบ 66 ปีนั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จไปทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์ ดังคำประพันธ์ในบัตรเชิญงานเปิดพิพิธภัณฑ์ดังนี้


เก้าธันวาลุดิถีปีสี่สิบสอง………………คืนวันเฝ้าทูลละอองบทศรี
กรมหลวงนราธิวาสราษฎร์ภักดี……เสด็จในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์
พระตำหนักดาราภิรมย์อุดมยศ……..ความจงรักฯ ปรากฏมิแปรผัน
เฉลิมพระเกียรติคุณอุ่นชีวัน …………พระจอมขวัญกษัตริยาจุฬาลงกรณ์
แสดงเรื่องเครื่องใช้ในพระราชชายา………เจ้าดารารัศมีอนุสรณ์
นิทรรศการพระภารกิจอันบวร………..พระเมตตาอาทรเสมอกัน
ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์อันโอภาส……….แล้วดำเนินชมกาดกลางสวนขวัญ
ขายพืชผักของพื้นเมืองสารพัน………………ทั้งไส้อั่วแคบหมูมันก็มากมี
เพื่อระลึกปรีชาญาณอันล้ำเลิศ……………….การเกษตรแผนใหม่เกิด ณ ที่นี่
พระราชชายาทดลองปลูกกะหล่ำปลี………ฝ้ายลำไยพันธุ์ดีแต่นั้นมา
แล้วเสด็จเยี่ยมกรายตามรายซุ้ม …………….จัดเป็นกลุ่มซุ้มดอกไม้ขายแพรผ้า
งานบายศรีงานใบตองกรองมาลา……………ขนมอร่อยเอมโอชาน่าชื่นใจ
แล้วประทับทอดพระเนตรนาฏศิลป์…………ศิลปินประจำคุ้มทั้งน้อยใหญ่
สืบสานงานนาฏศิลป์ดนตรีไทย……………….พระลอราชบำเรอไท้ให้ทัศนา
จะปิดฉากงานเปิดพิพิธภัณฑ์………………….ปล่อยโคมลอยสู่สวรรค์กันเถิดหนา
ลอยถวายกราบพระบาทพระราชชายา……ดารารัศมีพราวนภาฟากฟ้าไกล
กลุ่มชาวเวียงเชียงใหม่น้อมใจภักดิ์………..ล้วนประจักษ์คุณความดีที่ยิ่งใหญ่
ชาวจุฬาฯ พร้อมร่วมรวมดวงใจ……………….เทิดเอกองค์อรทัย…นิรันดร

(ขอบพระคุณ รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สัจกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุณาเอื้อเฟื้อข้อมูล)

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ