ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ยังคงประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส พระราชวังดุสิต ซึ่งสมเด็จพระปิยมหาราชทรงสร้างพระราชทาน ครั้นถึงพุทธศักราช 2457 เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทที่กรุงเทพมหานคร พระราชชายาเจ้าดารารัศมี จึงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเสด็จกลับนครเชียงใหม่

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตตามคำกราบบังคมทูลพระกรุณา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขบวนเสด็จตามพระอิสริยยศ หากแต่บางส่วนอาทิ ข้าราชการซึ่งต้องมาประจำขบวนเสด็จตามระยะทางต่างๆ นั้น พระราชชายาขอพระราชทานงดเสียด้วยจะเป็นการลำบากแก่ผู้ที่ต้องมาปฏิบัติ เพียงแต่ยังคงมีผู้ดำรงตำแหน่งพญาพิทักษ์เทวี ดังเช่นที่มีมาแต่ในรัชกาลก่อน การเสด็จเริ่มเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2457 โดยกระบวนรถไฟ แวะพักที่พิษณุโลก แพร่ ลำปาง ลำพูน ถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ 22 มกราคมศกเดียวกัน ประทับ ณ คุ้มท่าเจดีย์กิ่วของเจ้าแก้วนวรัฐ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำปิง

การเสด็จมาประทับของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีนั้น ก็ทรงปฎิบัติพระภารกิจนานัปการอยู่เสมอ หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงเล่าถึงพระราชชายาเมื่อประทับอยู่ที่เชียงใหม่ว่า

“ผู้ใดไปเฝ้าที่เมืองเชียงใหม่ ผู้นั้นจะได้เฝ้าเจ้าหญิงผู้เป็นหลักของบ้านเมือง ประทับอยู่ในระหว่างข้าราชการทั้งฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ เวลาตรัสกับพวกใต้ ก็ตรัสภาษาใต้อย่างชัดเจน ถ้าหันไปตรัสทางฝ่ายเหนือ ก็ชัด เป็นฝ่ายเหนือไม่มีแปร่ง ตรัสไต่ถามทุกข์สุขและแนะนำในทางราชการและส่วนตัวด้วยความเหมาะสมแก่พระเกียรติยศ ทรงชนะใจผู้ที่ได้เฝ้าแล้วได้เกือบหมดไม่เว้นตัว”

พระราชชายาประทับอยู่ที่คุ้มท่าเจดีย์กิ่วเป็นระยะเวลาพอสมควร เมื่อมีพระชนมายุมากขึ้น โปรดความสงบ และสนพระทัยในการเกษตร จึงหาที่ดินเพื่อสร้างพระตำหนักส่วนพระองค์ขึ้น ได้ที่ดินด้านหลังที่ว่าการอำเภอแม่ริมเป็นที่เหมาะ จึงสร้างพระตำหนักและสวนขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2470 โดยทรงออกแบบ การวางทิศทางของห้อง ทิศทางของลมและแสง มีรับสั่งว่าที่นี่คือ “บ้าน” ของพระองค์อย่างแท้จริง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานนามพระตำหนักนี้ว่า “ดาราภิรมย์” และมี “สวนเจ้าสบาย” เป็นที่ทำแปลงเกษตร ปลูกพืชและไม้ดอกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กุหลาบดอกโตที่ได้นามตามพระปรมาภิไธยถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระราชสวามี ว่า “กุหลาบจุฬาลงกรณ์”

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีประทับ ณ พระตำหนักแห่งนี้ถึง 4 ปี พระอาการประชวรด้วยโรคพระปัปผาสะ (ปอด) ก็กำเริบขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสะดวกต่อการรักษาพระอาการประชวร พระประยูรญาติจึงได้ทูลเชิญพระราชชายาฯ ไปประทับที่คุ้มรินแก้ว ในเมืองเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้่าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงห่วงใยพระอาการอย่างยิ่ง รวมถึงคณะรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ก็ห่วงใยและอำนวยความสะดวกในการถวายการรักษา ถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2476 ก็สิ้นพระชนม์

พระมรดกส่วนของพระตำหนักดาราภิรมย์และบริเวณนั้น ได้ประทานแก่พระทายาท ซึ่งต่อมาได้ขายแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพุทธศักราช 2492 ตามโครงการขยายการศึกษาสู่ภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการในเวลานั้น ปีถัดมากรมตำรวจได้ขอยืมใช้ที่ดินตั้งเป็นที่ตั้งกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 5ในนาม “ค่ายดารารัศมี”

(ขอบพระคุณข้อมูลจากหนังสือ “ดารารัศมี” ของนงเยาว์ กาญจนจารี และเพจ “พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์”)

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ