ชนิดของบายศรี แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.บายศรีของราษฎร คือบายศรีที่จัดทำขึ้นเพื่อพิธีกรรมต่าง ๆ ของราษฎร ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันในแต่ละท้องที่ แต่สามารถแบ่งเป็น 2 ชนิด ใหญ่ ๆ ดังนี้

-บายศรีปากชาม เป็นบายศรีที่ใช้ในพิธีกรรมขนาดเล็กภายในครัวเรือน มีลักษณะเป็นบายศรีขนาดเล็ก โดยการนำใบตองมาม้วนเป็นรูปกรวยแล้วใส่ข้าวสุกไว้ข้างใน คว่ำกรวยไว้ตรงกลางชาม ให้ยอดแหลมของกรวยอยู่ด้านบนและนำไข่ต้มมาเสียบไว้ เรียกว่า ไข่ขวัญ และมีเครื่องประกอบบายศรีอื่น ๆ เช่น ข้าว ไข่ กล้วย และแตงกวา

แต่สำหรับพิธีหลังเที่ยงเป็นต้นไปไม่นิยมใช้อาหารในการตกแต่ง แต่จะใช้เป็นดอกไม้ในการตกแต่งบายศรีแทน เช่น ดอกบัว ดอกดาวเรือง หรือดอกไม้อื่น ๆ

-บายศรีใหญ่ หรือบายศรีต้น มีลักษณะใหญ่กว่าบายศรีปากชามนิยมทำเป็น 3,5,7 หรือ 9 ชั้นให้มีลักษณะคล้ายฉัตร แต่ไม่ได้กำหนดจำนวนชั้นตายตัว แล้วแต่ความต้องการของผู้ประดิษฐ์ และมีอาหาร ขนม ธูปเทียนใส่ลงไปในแต่ละชั้นของบายศรีด้วย มักใช้ในพิธีบูชาเทพยดา หรืองานรื่นเริงอื่น ๆ เช่น พิธีทำขวัญนาค พิธีไหว้ครู เป็นต้น

2.บายศรีของหลวง เป็นบายศรีที่ใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ โดยแบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ

-บายศรีต้น เป็นบายศรีที่ทำด้วยใบตองและมีไม้แป้นเป็นโครง มีลักษณะเหมือนบายศรีต้นของราษฎร แต่จะกำหนดชั้นชัดเจน (3 ชั้น สำหรับขุนนางและประชาชนทั่วไป, 5 ชั้น สำหรับเจ้านายพระราชวงศ์, 7 ชั้น สำหรับพระมหาอุปราชา เช่น กรมสมเด็จพระเทพฯ, 9 ชั้น สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมราชินี)

-บายศรีแก้ว เงิน ทอง บายศรีชนิดนี้ประกอบด้วยพานแก้ว พานทอง และพานเงินขนาดใหญ่ เล็ก วางซ้อนกันเป็นลำดับ เป็นจำนวน 5 ชั้น โดยตั้งบายศรีแก้วไว้ตรงกลาง บายศรีเงินและทอง วางซ้าย-ขวา ตามลำดับ

-บายศรีตองรองทองขาว ลักษณะคล้ายบายศรีใหญ่ของราษฎร โดยมากมักทำ 7 ชั้น โดยบายศรีชนิดนี้มักตั้งบนพานโละหะทองขาว ใช้สำหรับงานพระราชพิธีใหญ่ ๆ เช่น พระราชพิธีสมโภชเดือน และขึ้นพระอู่ พระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ เป็นต้น

ที่มาข้อมูล : แต่งแต้ม บายศรีล้านนา เอกสารประกอบนิทรรศการ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2557.

ข้อมูลจาก พิพิธภัณฑ์พระตำหนักดาราภิรมย์