อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
14 กรกฎาคม 2440-2565
ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2479 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2493 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีอธิการบดีท่านเดียวตลอดระยะเวลานั้น คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในช่วงพุทธศักราช 2481 ด้วย ในยุคที่ท่านดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนี้ นิยมเรียกกันว่าสมัยสร้างชาติ ในมหาวิทยาลัยก็มีความเปลี่ยนแปลง และริเริ่มสิ่งใหม่ที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
แปลก ขีดตะสังคะ เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2440 ณ บ้านแพ ปากคลองบางเขน อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรของนายขีด กับนางสำอาง ขีดตะสังคะ สมรสกับท่านผู้หญิงละเอียด (พันธุ์กระวี) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนกลาโหมอุทิศ วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี จากนั้นเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก โรงเรียนเสนาธิการ และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประเทศฝรั่งเศส เป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อพุทธศักราช 2475 และได้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลนับแต่นั้น จนกระทั่งได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในพุทธศักราช 2481 และกลับมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีกหลายสมัย จนถึงพุทธศักราช 2500 ก็เป็นวาระที่ 8 ซึ่งเป็นวาระสุดท้ายที่อยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศ
เมื่อพุทธศักราช 2479 ศาสตราจารย์อุปการคุณ นายแพทย์แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส อธิการบดีคนแรกพ้นจากตำแหน่ง พันเอก หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ได้เข้ารับตำแหน่งอธิการบดีต่อมา ถึงพุทธศักราช 2481 เมื่อได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ยังคงดำรงตำแหน่งอธิการบดีต่อไป การที่บุคคลในคณะรัฐบาลเข้ารับตำแหน่งสำคัญในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลในเวลานั้นได้ให้ความสำคัญแก่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมมาตั้งแต่ในรัชกาลที่ 6 เป็นอย่างมาก
รัฐบาลภายใต้การนำของพันเอกหลวงพิบูลสงคราม หรือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศนโยบายสร้างชาติ เป็นนโยบายหลักในการพัฒนาประเทศ ภายใต้แนวคิดผู้นำนิยมและชาตินิยม โดยเน้นการสร้างเอกลักษณ์ของคนไทย ทั้งนี้ การศึกษาเป็นหนทางหนึ่งของกระบวนการที่ช่วยให้นโยบายดังกล่าวมีผลในทางปฏิบัติด้วย ดังนั้น การจัดการศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระยะนี้ จึงมีการขยายตัวของศาสตร์สาขาต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อสนองความต้องการด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ของชาติเป็นสำคัญ เช่น ทันตแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี และการหนังสือพิมพ์ ที่ต่อมาพัฒนาเป็นคณะนิเทศศาสตร์ เป็นต้น ทั้งมีการสร้างอาคารเพิ่มเติมขึ้นหลายหลัง ดังเช่น หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอสมุดกลาง อาคารเคมี 1 ตึกคณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มีการส่งเสริมให้ปฏิบัติตามรัฐนิยม อาทิ การสวมหมวก การทักทายด้วยคำว่า “สวัสดี” ที่เริ่มใช้ในคณะอักษรศาสตร์มาก่อน การจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสอดส่องดูแลจรรยามารยาทของนิสิต การเรียนการสอนวิชายุวชนนายทหาร และยุวนารีพยาบาล ฯลฯ
งานสำคัญงานหนึ่งของอธิการบดีท่านนี้ คือในพุทธศักราช 2482 พันเอก หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สนับสนุนและดำเนินการเพื่อให้ตราพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน อันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตำบลปทุมวัน จังหวัดพระนคร ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2482 เป็นผลสำเร็จ มหาวิทยาลัยจึงได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินพระราชทานที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยโดยพระราชทานผลประโยชน์ให้ตกแก่มหาวิทยาลัยทั้งหมด แต่ยังคงต้องเช่าโดยคิดราคาตามค่าธรรมเนียมที่เก็บอยู่เดิม เนื่องจากยังอยู่ในบัญชีเลี้ยงชีพบาทบริจาริกาในรัชกาลที่ 5 ที่เป็นข้อผูกพันการใช้ที่ดินนี้มาก่อน เมื่อมหาวิทยาลัยตั้งขึ้นอย่างมั่นคงแล้ว คณะกรรมการดำริรูปการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตั้งขึ้นในรัชกาลที่ 7 มีแนวคิดที่จะขอพระราชทานผืนนี้เป็นกรรมสิทธิ์แก่มหาวิทยาลัย และเริ่มมีการดำเนินการอยู่ตลอดมา ทั้งมีการออกพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พุทธศักราช 2477 อันเป็นการจัดระเบียบราชการในมหาวิทยาลัยที่ชัดเจนและมั่นคงภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้น การได้รับกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้รับพระราชทานมาโดยสมบูรณ์เพื่อจัดการผลประโยชน์บำรุงมหาวิทยาลัยนี้ ก็ตรงตามพระบรมราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่สำเร็จในสมัยที่นายกรัฐมนตรีและอธิการบดีท่านนี้ดำรงตำแหน่ง
อีกภารกิจหนึ่งที่สำคัญคือ ในการพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2493 จอมพล ป. พิบูลสงคราม อธิการบดี ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในฐานะทรงเป็นพระบรมราชูปถัมภกแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นเดียวกันกับการทูลเกล้าฯ ถวายครุยบัณฑิตพิเศษ ที่มหาวิทยาลัยเคยทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 7 เมื่อพุทธศักราช 2473
จอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับพระราชทานปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ โดยอนุมัติของสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2481 ต่อมา ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง จึงได้ย้ายไปพำนัก ณ ประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคหัวใจวาย ณ บ้านพักที่ตำบลซากามิโอโน ซานกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2507 สิริอายุได้ 67 ปี
ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall