เมื่อ 130 ปีที่แล้ว ณ เกาะสีชัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีก่อพระฤกษ์พระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์ และพระราชทานนามพระราชฐาน ณ เกาะสีชังว่า “พระจุฑาธุชราชฐาน” ตามพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ซึ่งได้ประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือน ณ พระตำหนักมรกฎสุทธิ์ เกาะสีชัง

เกาะสีชังได้ใช้เป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ครั้งแรก เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อทรงพระประชวรในพุทธศักราช ๒๔๓๑ และคณะแพทย์ได้ถวายความเห็นว่าควรประทับอยู่ในที่มีอากาศจากชายทะเล แต่เดิมเกาะสีชังนี้มีเพียงเรือนหลวงที่ใช้ชาวต่างประเทศเช่า ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับแรมด้วย จนกระทั่ง พุทธศักราช 2432 จนถึง 2436 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับอีกหลายครั้ง จึงมีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชฐานสำหรับประทับในฤดูร้อน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มสร้างตึกขึ้น 3 หลัง และพระราชทานเป็นสถานที่สำหรับพักฟื้นของผู้ป่วยก่อน ได้แก่ ตึกวัฒนา ตึกผ่องศรี และตึกอภิรมย์ ตามพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระวรราชเทวี และพระอรรคชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมขุนสุทธาสินีนาฏ ตามลำดับ แล้วจึงสร้างขึ้นเป็นพระราชฐาน ประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งเมขลามณี โกสีย์วสุภัณฑ์ มันธาตุรัตน์โรจน์ โชติรสประภาต์ และพระตำหนัก 14 หลัง อาทิ พระตำหนักมรกฎสุทธ์ ซึ่งเป็นที่เป็นที่ประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระจุฑาธุชราชฐานแห่งนี้ในโอกาสสำคัญ เช่น ทรงรับราชทูต และตั้งการไหว้ครูเพื่อทรงศึกษาของพระเจ้าลูกยาเธอ จากการแปรพระราชฐานมาประทับนี้เอง เกาะสีชังได้รับการพัฒนาสาธารณูปโภคขึ้นอย่างมาก ทั้งยังเป็นการเฝ้าระวังรักษาดินแดนที่เป็นเกาะแก่งของไทยให้ปลอดภัยอีกด้วย

ถึงพุทธศักราช พ.ศ. 2436 เกิดวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้การก่อสร้างพระที่นั่ง และตำหนักต่างๆ จึงชะงักและยุติลง ทั้งมิได้แปรพระราชฐานมายังเกาะสีชังอีกเลยตลอดรัชกาล และรื้อถอนพระที่นั่งและตำหนักบางส่วนมาสร้างขึ้นใหม่ เช่น พระที่นั่งมันธาตุรัตน์โรจน์ ซึ่งย้ายมาสร้างในพระราชวังดุสิต พระราชทานนามใหม่ว่า “พระที่นั่งวิมานเมฆ”

พระจุฑาธุชราชฐานก็มิได้มีการใช้งานอีกเลย จนกระทั่ง พุทธศักราช 2543 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับมอบสิทธิ์จากกรมธนารักษ์ให้ใช้พื้นที่พระราชฐานนี้ จัดตั้งสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล และรับดูแลรักษาพระราชฐานแห่งนี้ร่วมกับกรมศิลปากร พร้อมทั้งพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยอาศัยการทำงานร่วมกันกับชุมชนเกาะสีชัง เป็น พิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เมื่อพุทธศักราช 2547 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอย่างเป็นทางการ

ปัจจุบัน พระจุฑาธุชราชฐาน อยู่ในการดูแลของสำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเลและศูนย์ฝึกนิสิต เกาะสีชัง ในการดูแลของสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Aquatic Resources Research Institute, Chulalongkorn University

ถิ่นสุขกายสุขด้วย……..ถิ่นดี
จิตรโปร่งปราศราคี……ชุ่มชื้น
สองสุขแห่งชาวสี-……..ชังเกาะ นี้แฮ
อายุย่อมยืนพื้น………….แต่ร้อยเรือนริม
(พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ข้อมูลจาก หอประวัติจุฬาฯ
#หอประวัติจุฬาฯ #ChulaMemorialHall