“…เมื่อได้กล่าวถึงโรงเรียนนี้ ว่าจะเปนการสงเคราะห์แต่ตระกูลเจ้านายดังนี้
ใช่ว่าจะลืมตระกูลข้าราชการและราษฎรเสียเมื่อไร โรงเรียนที่มีอยู่แล้วแลที่จะตั้งขึ้นต่อไปภายน่า โดยมากได้คิดจัดการโดยอุส่าห์เต็มกำลังที่จะให้เป็นการเรียบร้อย พร้อมเพรียง
เหมือนอย่างโรงเรียนนี้ แลคิดจะให้แพร่หลายกว้างขวาง เปนคนที่ได้เรียนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งจะมีโรงเรียนวิชาอย่างสูงขึ้นไปอีกซึ่งกำลังคิดจัดอยู่บัดนี้
เจ้านายตั้งแต่ลูกฉันเปนต้นไป  ตลอดจนถึงราษฎรที่ต่ำสุด จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้าว่าขุนนางว่าไพร่  เพราะฉะนั้นจึ่งขอบอกได้ว่า การเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้จะเปนข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันจะอุส่าห์จัดให้เจริญขึ้นจงได้”

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแก่พระราชวงศ์ และข้าราชการซึ่งเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานของโรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง ที่อัญเชิญมาข้างต้นนี้เป็นพระราชปณิธานซึ่งแสดงให้ว่าทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา (ทรงใช้คำโรงเรียนวิชาอย่างสูง) ให้มีขึ้นในกรุงสยามเพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยทุกคนมีโอกาสเล่าเรียนเสมอกันพระราชปณิธานนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งดังปรากฏในพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ผู้ที่ชุมนุมงานพระราชพีธีวาง ศิลาพระฤกษ์ตึกบัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตึกอักษรศาสตร์ 1 ในปัจจุบัน) เมื่อวันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2458 ดังนี้

“วันนี้เรายินดีที่ได้รับอัญเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้
เพราะเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว ที่จะยังให้เป็นผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้ว ในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้นสำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม แต่ในรัชสมัยของพระองค์ ยังมีเหตุติดขัด ซึ่งการจะยังดำเนินไม่ได้ตลอดปลอดโปร่ง ตัวเราเป็นรัชทายาทจึ่งรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่ง ที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์โดยรู้ว่าเมื่อทำได้สำเร็จแล้ว จะเป็นเครื่องเพิ่มพูนพระเกียรติยศ เป็นราชานุสาวรีย์เป็นที่คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราชของชาติไทยเรา เป็นการสมควรยิ่งนักที่จะสร้างพระราชานุสาวรีย์อันใหญ่และถาวรเช่นนี้ ทั้งจะได้เป็นเครื่องที่จะทำให้บังเกิดประโยชน์แก่ชาติไทยไม่มีเวลาเสื่อมสูญด้วย”

พระราชปณิธานและพระราชดำรัสที่อัญเชิญมานี้ชี้ให้เห็นพระราชปรารถนาที่จะให้พสกนิกรของพระองค์มีโอกาสศึกษาหาความรู้เท่าเทียมกันนับตั้งแต่การศึกษาขั้นต้นจนถึงระดับอุดมศึกษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยพระราชทานพระราชดำริว่าการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมี 2 แนวทางคือตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเลย กับค่อยๆ พัฒนาสถาบันซึ่งทรงมีพระราชปณิธานจะให้เป็นมหาวิทยาลัยตามกำลังจะประมาณ การจัดตั้งอย่างแรกทรงเห็นว่าสิ้นเปลืองมากและจะไม่มีงบประมาณดำเนินงานกิจการอื่นเลย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งและเตรียมการให้สำนักฝึกหัดวิชาข้าราชการฝ่ายพลเรือน หรือโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย


ในขณะเดียวกันก็ทรงสนับสนุนให้เปิดโรงเรียนวิชาชีพชั้นสูงในหลายสาขาวิชาขึ้นเพื่อผลิตคนเข้าทำงาน เหตุที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะอนุมานจากพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงเป็นองค์รัชทายาทผู้ทรงรับพระบรมราโชบายและทรงทราบพระราชปรารถนาในสมเด็จพระบรมชนกนาถเป็นอย่างดี จึงทรงสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กขึ้นเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นมหาวิทยาลัยตามพระบรมราโชบายแลพระราชปรารถนาแห่งสมเด็จพระชนกธิราชของพระองค์ และในที่สุดก็ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ขึ้นเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่นำเสนอเรื่องนี้เพื่อประสงค์จะให้นิสิตใหม่ทุกท่านได้ตระหนักถึงเกียรติประวัติของมหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักเคารพของเราว่าสถาบันนี้ไม่ใช่เป็นเพียงมหาวิทยาลัย แต่เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์อันยิ่งใหญ่และถาวรเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระปิยมหาราชให้เจริญก้าวหน้ายั่งยืนตลอดไป จุดประสงค์อันสำคัญและยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยนี้ก็คือจะต้องเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันที่จะเข้ามาศึกษาหาความรู้ ขอให้นิสิตใหม่ทุกท่านแสวงหาความรู้ฝึกทัศนคติและทักษะในวิชาชีพของท่านให้เต็มตามศักยภาพของท่านแล้วทำงานรับใช้บ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

หากท่านเข้าใจและทำสำเร็จท่านก็จะเป็นผู้ที่ถวายความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระบรม ราชูปถัมภกทั้งสองพระองค์ รวมทั้งจะเป็นการแสดงความรักจุฬาฯ ที่มีคุณค่าทั้งต่อตัวท่านเองและสถาบันแม่ของเรา
 

อาจารย์ สวัสดิ์ จงกล ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หอประวัติจุฬาฯ